สอวช. นำคณะ ดูความก้าวหน้าอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มช. “ดร.กิติพงค์” มั่นใจ สร้างธุรกิจฐานนวัตกรรม ปั้นผู้ประกอบการ 1,000 ราย 1,000 ล้าน สู่รายได้ประเทศ
เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.และคณะพาคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMU STeP) เพื่อศึกษาดูงานความก้าวหน้าในการใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ปั้นธุรกิจรายย่อยสู่ธุรกิจ 1,000 ล้านบาทได้ โดยมี ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ STeP และทีมงาน เป็นผู้ให้ข้อมูลรายละเอียดและนำชมสถานที่
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า นโยบายหลักของรัฐบาลในเวลานี้คือ ผลักดันให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น หนทางเดียวที่จะไปสู่เป้าหมายได้คือต้องทำนวัตกรรมโดยเทคโนโลยีต้องเป็นของเราเอง ทั้งนี้ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และพัฒนากำลังคนด้าน วทน. ไว้มาก หนึ่งในนั้นคืออุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 5 แห่ง โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มช. แห่งนี้ เกิดขึ้นเป็นที่แรก ปัจจุบันพัฒนาได้ก้าวหน้ามาก สามารถยกระดับธุรกิจขนาดเล็กจากรายได้ 1-2ล้าน เพิ่มเป็น 10 ล้าน และเป็นหลายร้อยล้านบาทได้ ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการขึ้นรูปนโยบายโดยหน่วยงานหลักอย่าง สอวช. (ตั้งแต่เป็น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สวทน.) และส่งต่อมายังทีมงานที่เข้าใจนโยบายและมีวิสัยทัศน์เดียวกัน ทำงานขับเคลื่อนต่อยอด จนเห็นการทำงานออกมาเป็นรูปธรรม
ดร.กิติพงค์ กล่าวถึง การตั้งเป้าหมายการในการเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation–Driven Enterprise) โดยพัฒนาผู้ประกอบการ 1,000 ราย 1,000ล้านบาท ภายใน 5ปี ว่า มีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะเมื่อเห็นในการดำเนินงานของอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ มช. ที่มีผู้ประกอบการที่ทำรายได้อยู่ในระดับ 200-300ล้าน ซึ่ง ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ ใช้คำว่า ระดับโพนี่ เป็นความสำเร็จก่อนที่จะเข้าสู่ระดับยูนิคอร์นนั้นมีอยู่เป็นสิบราย และหากผนวกรวมกับผู้ประกอบการที่บ่มเพาะในอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ อีก 4 แห่ง ตลอดจนผู้ประกอบการที่อยู่ภายนอกด้วย โอกาสที่จะไปสู่ 1,000×1,000 เชื่อว่าเป็นไปได้สูงมาก
ถ้าถามว่าปัจจัยที่ทำให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือมีความก้าวหน้ามากกว่าอุทยานวิทยาศาสตร์ฯ ที่อื่น ๆ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า โดยส่วนตัวเฉพาะของภาคเหนือสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ 1. สภามหาวิทยาลัยที่นี่หัวก้าวหน้า อำนวยความสะดวก สนับสนุน ให้เกิดผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้ 2. ทีมงานบริหารจัดการของมหาวิทยาลัย มีความมุ่งมั่นและมีวิสัยทัศน์ บวกกับบุคลากรที่เป็นคนรุ่นใหม่ ความคิดใหม่ อายุไม่จำกัด มีความแข็งแรง มีพลังที่จะทำงาน และ 3. คนที่ทำงานตั้งแต่ระดับหน้างาน จนถึงคณะ และนักวิจัย มีความมุ่งมั่นและมีความสามารถสูง นอกจากนี้ยังมีการสร้างระบบนิเวศ ทั้งเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการจัดการหลังบ้านที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมาก
ด้าน ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการ STeP กล่าวว่า อุทยานวิทยาศาสตร์ มช. รับนโยบายส่วนกลางขับเคลื่อนให้เกิดระบบนวัตกรรม ฐานเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรม ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้เปรียบเพราะมีองค์ความรู้และงานวิจัยอยู่แล้ว โดยที่ STeP เราแบ่งลูกค้าเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือกลุ่มผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจอยู่แล้ว เช่น กลุ่ม SME กับอีกกลุ่มคือกลุ่มสตาร์ทอัพ ในกลุ่ม SME วิธีการทำงานของเรา คือการรับโจทย์ความต้องการในเรื่องการวิจัยพัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าธุรกิจ มาให้นักวิจัยทำ อันนี้เป็นวิธีการเดียวที่เขาจะเปลี่ยนเส้น S-Curve ของธุรกิจเขา จากขายด้วยราคา ขาย OEM ขายแบบก็อปปี้ พอได้ความรู้วิจัยนวัตกรรมไปก็เปลี่ยนไปขายของที่มีคุณค่าสูง ไปขายของที่แข่งขันด้วยคุณค่า ไม่ได้แข่งด้วยราคา
ผู้อำนวยการ STeP กล่าวว่า 10 ปีมานี้ เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเดียว มีมากกว่า 1,500 โครงการ ที่เราเข้าไปช่วยผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่ม SME ส่วนอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งคือกลุ่มสตาร์ทอัพ 10 ปี เราทำไป 300 กว่าบริษัท ในจำนวนนี้ 60-70 บริษัท เราทำให้เขาเป็นบริษัทที่เติบโตมีมูลค่าสูงเกิน 300ล้าน หรือโพนี่ ได้มากกว่า 20 บริษัท และเราได้ปั้นโปรแกรมตัวหนึ่งที่เรียกว่า Basecamp24 ขึ้นมา โดยตั้งเป้าว่า อีก 5ปีข้างหน้า จะสร้างสตาร์ทอัพในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 480 บริษัท และเราก็หวังว่าในจำนวนนี้สัก 60 บริษัท เป็นบริษัทที่เป็นโพนี่คือมีมูลค่า 300ล้าน นั่นแปลว่าอีก 5 ปี เราสร้างมูลค่าทางธุรกิจในภาคเหนือได้ 18,000 ล้านบาท แต่เหนือไปกว่านั้นจำนวนการจ้างงานที่จะเกิดขึ้นใน Basecamp24เพื่อทำให้ลูกหลานที่เรียนจบแล้วไม่ต้องไปทำงานกรุงเทพฯ ทำงานอยู่ในเชียงใหม่ แล้วมีรายได้การจ้างงานราคาสูงด้วย 7,000 กว่าคน รวม ๆ สร้างผลกระทบได้ 20,000 กว่าล้าน ภายในเวลา 5 ปี นี่คืออานิสงส์ของการทำสตาร์ทอัพ
“ตอนนี้มีทางลัด เพราะเราได้ลงนามความร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีการระดมสรรพกำลัง ระดมโปรแกรมไลฟ์แพลตฟอร์ม ระดมเมนเทอร์มืออาชีพเข้ามาช่วยจาก 300 ล้านเรามีเขาลูกที่ 2 ตอนนี้เรามีเขา 1,000 ล้านแล้ว คือการเข้าไปสู่ตลาดหลักทรัพย์ระดับ LiVE Exchangeหรือ mai และเราอาจจะเข้าไปสู่ SET ในอนาคตได้ และตอนนี้เราได้ส่ง 12 บริษัท ที่เป็น SMEs 10 บริษัท และสตาร์ทอัพ 2 บริษัท ในจังหวัดเชียงใหม่ เข้า accelerator platform กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อเตรียม 5 เรื่องสำคัญในการนำ 12 บริษัทนี้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งใน 2 บริษัทที่เป็นสตาร์ทอัพที่เราปั้นขึ้นมา ตลาดหลักทรัพย์ประเมินแล้วคิดว่าน่าจะเข้า LiVE Exchange ได้ภายในไม่เกิน 2 ปีนี้ด้วย” ดร.ธัญญานุภาพ