วิศวะฯ สจล. จับมือสมาคมศิษย์เก่าฯ สานต่อนโยบายอธิการบดี ตอบตรงโจทย์ ปลูกตรงจุด สู่มิติใหม่สร้างฐานนวัตกรรมระดับโลกที่ยั่งยืน
จากนโยบายของรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายความร่วมมือเพื่อร่วมกันพัฒนา เสริมสร้าง เชื่อมโยงด้านการศึกษาและวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรมให้เกิดความยั่งยืน จึงเกิดโครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมศิษย์เก่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ขึ้น โดย รองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า “คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. เป็นคณะที่มีศักยภาพที่เข้มแข็ง มีความพร้อม สามารถประสานสนับสนุนความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ กับสมาคมศิษย์เก่า สจล. ทั้งในด้านวิชาการ การวิจัยพัฒนา การแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้เพื่อสร้างบัณฑิตใหม่ที่มีศักยภาพสูงตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ โดยสมาคมศิษย์เก่า สจล. ได้มีความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ทั้งในด้านวิชาการและด้านความร่วมมือกับเครือข่าย อาทิ การจัดProfessional Technical Skill โดยเครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า สจล. จัดการอบรมด้านวิชาชีพให้กับนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ จำนวนกว่า 20 หลักสูตร ทางด้านงานติดตั้งระบบไฟฟ้า เครื่องกล และอาคารอัจฉริยะ โดยหลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้มีทักษะทางด้านการลงมือปฏิบัติจริง (Hard Skills) มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถนำทักษะและความรู้ที่ได้ไปใช้ในการประกอบอาชีพในอนาคต นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ความรู้ทางด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยี ระบบ IoT เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมและเพิ่มมูลค่ารายได้ของชุมชนผ่านโครงการ Creating Shared Value (CSV) เช่น การติดตั้งระบบวัดน้ำเสียในคลอง ระบบโซล่าร์เซลล์ รวมถึงการนำเทคโนโลยีไปช่วยในด้านการเกษตร เช่น การติดตามอายุของทุเรียนด้วย QR Codeเป็นต้น”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไลคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า“โครงการความร่วมมือระหว่างสมาคมศิษย์เก่าสจล. กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. มีวัตถุประสงค์ให้สถาบันการศึกษาและสถานประกอบการ เชื่อมโยงภาคการศึกษากับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน โดยผ่านเครือข่ายสมาคมศิษย์เก่า (Alumni Network) ที่เข้มแข็ง ปัจจุบันมีความร่วมมือในประเภทต่างๆ อาทิ การมอบทุนการศึกษาและทุนวิจัยแก่บุคลากรจากภาคอุตสาหกรรม, การเชิญบุคลากรจากภาคอุตสาหกรรมร่วมเป็นIndustrial Advisory Board (IAB) เพื่อพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยและสามารถผลิตบุคลากรได้ตรงความต้องการ,การเชิญภาคอุตสาหกรรมมาร่วมสอน เป็นวิทยากร และเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วมผ่านโครงการต่างๆ เช่น Monozukuri, การรับนักศึกษาเข้าปฏิบัติงานผ่าน การฝึกงาน การทำสหกิจ Industrial Experience for Engineers และโครงการ Work-integrated Learning ของคณะฯ ที่ได้รับอนุมัติข้อเสนอฉบับสมบูรณ์สำหรับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) หรือหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์, ความร่วมมือด้านงานวิจัยเชิงลึกและวิจัยเชิงอุตสาหกรรม และการสร้างห้องปฏิบัติการภายในคณะฯ
นอกจากนี้ยังได้รับมอบอำนาจจากรศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี ให้ทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับบริษัท คัมเวลคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การทดสอบ ด้านความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) และความร่วมมือทางวิชาการอื่นๆ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นมา”
คุณบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ นายกสมาคมศิษย์เก่า สจล. และประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท คัมเวลคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ความร่วมมือในโครงการนี้มีความคืบหน้าที่ดี เราได้รับความร่วมมือจากกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) จัดสรรงบประมาณในรูปแบบทุนเกือบ 3 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการศึกษาในหลักสูตร Certificate in Quantitative Finance (CQF) ให้กับอาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. จำนวน 9 ท่าน หลักสูตรนี้มีมาตรฐานระดับสากลและเทียบเท่ากับหลักสูตรปริญญาโทด้าน Financial Engineering โดยมีความมุ่งหวังว่าอาจารย์ทั้ง 9 ท่านจะได้นำความรู้และความสามารถมาพัฒนาบุคลากรและตลาดทุนไทยต่อไป นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือทดสอบ วิจัยพัฒนาและส่งเสริมสนับสนุนดังนี้
1. ความร่วมมือทดสอบความเข้ากันได้ทางแม่เหล็กไฟฟ้า (EMC) โดยสถานประกอบการ สนับสนุนให้ใช้ห้องทดสอบด้าน EMC ระดับ Pre compliance ในราคาพิเศษ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมและผลงานวิจัยให้ได้รับการทดสอบอย่างมีมาตรฐาน ระบบ Smart Rail Tracking Monitoring System ซึ่งเป็นผลงานวิจัยคณะวิศวะฯ สจล. ก็ได้รับความร่วมมือจากทีมผู้เชี่ยวชาญบริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เตรียมการทดสอบมาตรฐาน EMC ขั้น Pre-Compliance IEC 61326-1
2. การวิจัยและพัฒนาการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยจากฟ้าผ่าและระบบการจัดการฟ้าผ่าอัจฉริยะ โดยการติดตั้งใช้งานเพื่อความปลอดภัยบริเวณคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และชุมชนข้างเคียงอยู่ระหว่างการสำรวจเพื่อจะติดตั้ง วิจัยและใช้งานในเดือนมิถุนายน 2567 อาทิ ระบบตรวจจับการบุกรุกด้วยไฟเบอร์ออฟติคและระบบตรวจจับการสั่นสะเทือนในระบบรางด้วยไฟเบอร์ออฟติค
3. การส่งเสริม สนับสนุนทุนการศึกษาวิจัยในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. สนับสนุนทุนค่าบำรุงการศึกษา และบริษัท คัมเวล คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด (มหาชน) สนับสนุนค่าวัสดุการวิจัยและใช้ห้องทดสอบที่เกี่ยวข้อง จำนวนปีละ2-5 ทุนซึ่งในปีนี้เราให้ทุนวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์และสังคม ด้วยการนำปัญหาและความต้องการนวัตกรรมของบริษัท มากำหนดเป็น Project Based มีการคัดเลือกพนักงานและนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอกจำนวน 5 ท่าน คือ 1. คุณภาธร สิรจันทร์สว่าง (การประยุกต์ใช้กราฟินเพิ่มความนำไฟฟ้าสำหรับระบบต่อลงดิน) 2. คุณกิตตินนท์ หมอก็เป็น(โมเดลทางคณิตศาสตร์สำหรับการแจ้งเตือนฟ้าผ่าความแม่นยำสูงด้วยข้อมูลอุตุนิยมวิทยา) 3. คุณพิพัฒน์ ธนาภรณ์ชินพงษ์ (ระบบสื่อสารสายใยแก้วนำแสงเพื่อตรวจจับผู้บุกรุก) 4. คุณปวรุตม์ กองสมบัติสุข (ระบบซอฟต์แวร์ในการแจ้งเตือนฟ้าผ่าด้วย AI) 5. คุณวิโรจน์ ตั้งธีรจรูญวงศ์ (EMC สำหรับระบบตรวจจับโลหะแปลกปลอมขนาดเล็ก) ปริญญาโทจำนวน 2 ท่าน คือ 1. คุณกรกนก กุลยอด(การค้นหาตำแหน่งการผิดปกติสำหรับระบบต่อลงดิน) และ 2. คุณณัฐวุฒิ วงศ์ไชยวรรณ (การตรวจสอบสัญญาณชีพแบบไม่สัมผัสโดยใช้คลื่นเรดาร์ระดับมิลลิเมตร)”
การสร้างเครือข่ายความร่วมมือครั้งนี้นับเป็นมิติใหม่ของ สจล.ที่ต้องการเป็นฐานแห่งนวัตกรรมระดับโลก (The World Master of Innovation) เป็นแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมนุษย์ที่พร้อมด้วยสมรรถนะศักยภาพสูงตอบสนองความต้องการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและแข่งขันได้ในประชาคมโลกต่อ