
จุฬาฯ จัดการแข่งขันการนำเสนอแนวคิดเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน รอบชิงชนะเลิศ ภายใต้โครงการ International Friends for Peace
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับองค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย และบริษัทโกลบิชอคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกร มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Innovation Hub) เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันนำเสนอแนวคิดเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน รอบชิงชนะเลิศ (Final Pitching) โครงการ “International Friends for Peace 2022” ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เนื่องในวันสันติภาพโลก (International Peace Day) วันพุธที่ 21 กันยายน 2565ที่ผ่านมา เวลา 09.00 -17.00 น. ณ ห้องประชุม 801 อาคารจามจุรี 10 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีอาจารย์กัญญสร ตัณศุภผล ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาฯ ประธาน International Friends for Peace กล่าวเปิดงาน
ภายในงานมีการบรรยายและเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ทำไมเราต้องยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน แนวคิดและนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน แนวคิดและนวัตกรรมเพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรักแกจากมุมมองนานาชาติ โดยมีตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,300 คน มีผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 30 คน แบ่งออกเป็น 10 ทีมๆ ละ 3 คน
โครงการ International Friends for Peace 2022 จัดโดยองค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย และบริษัทโกลบิชอคาเดเมีย (ไทยแลนด์) เริ่มต้นจากการค้นหาตัวแทนเยาวชนเพื่อเป็นผู้นำด้านสันติภาพ หรือ Peace Leader รุ่นแรกตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 โดยจัดกิจกรรมคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนกว่าหมื่นคนจากโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อคัดเลือกตัวแทนผู้นำที่มีคุณสมบัติหลักคือมีความปรารถนา (Passion) และความมุ่งมั่น (Commitment) ที่พร้อมจะสร้างความเปลี่ยนแปลง และเป็นกระบอกเสียงให้กับเพื่อนเยาวชนด้วยกันในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อช่วยลดปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน ผลการคัดเลือกเยาวชน
ช่วงสามเดือนที่ผ่านมาในโครงการนี้ มีตัวแทนนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นผ่านเข้าร่วมโครงการจำนวน 1,300 คน และมีนักเรียน 30 คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเป็นผู้นำด้านสันติภาพรุ่นแรกผ่านเข้ารอบที่ 4 ซึ่งเป็นรอบชิงชนะเลิศที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เยาวชนกลุ่มนี้จะมาช่วยกันสร้างนวัตกรรมเพื่อลดความรุนแรงในโรงเรียนผ่านกระบวนการเรียนรู้ในลักษณะของการคิดเพื่อออกแบบ หรือ Design Thinking การสร้างโครงการ (Project Creation) พร้อมนำเสนอต่อหน้าสาธารณชนเพื่ออุทิศแก่สันติภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสันติภาพที่ปราศจากสงคราม เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจมนุษยชาติถึงผลกระทบและความเสียหายทั้งจากทรัพย์สินและชีวิตที่เกิดจากสงคราม
องค์กรผู้นำนักศึกษา ไอเซค ประเทศไทย เป็นองค์กรที่ดำเนินการโดยผู้นำนักศึกษากว่า 40,000 คนจากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกโดยไม่แสวงหาผลกำไร ด้วยพันธกิจในการพัฒนาความเป็นผู้นำแก่เยาวชนและนักศึกษา โดยร่วมมือกับบริษัท โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมการสอนภาษาอังกฤษแบบผสมผสาน (blended learning) อันดับ 1 ของคนไทย สอนคลาสเรียนสดโดยอาจารย์ต่างชาติเจ้าของภาษากว่า 1,000 คน มากถึง 300,000 กว่าคลาสเรียนในปี 2021 การันตีผลลัพธ์ด้วยหลักสูตรได้รับการรับรองจาก Education Alliance Finland และตามมาตรฐานภาษาอังกฤษสากล CEFR
โครงการนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ เพื่อเตรียมพร้อมสร้างตัวแทนเยาวชนที่จะมาร่วมเป็นผู้นำด้านสันติภาพในระดับมัธยมปลายและระดับมหาวิทยาลัยในปีต่อไป กิจกรรมฝึกอบรมและประสบการณ์ที่เยาวชนทุกคนได้รับในครั้งนี้จะเสริมสร้างความมั่นใจ ความภาคภูมิใจ และองค์ความรู้ใหม่ให้แก่นักเรียนทุกคนและครอบครัว ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อลดความรุนแรงในโรงเรียนจะเป็นสิ่งที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนนักเรียน ครู โรงเรียนและสังคมไทยได้ นอกจากนั้นตัวแทนเยาวชนผู้นำด้านสันติภาพทั้ง 30 คนจะช่วยเป็นกระบอกเสียงจากผู้นำเยาวชนให้นักเรียนไทยทุกคนตระหนักรู้เรื่องความรุนแรงทั้งในโรงเรียนและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น
ผู้จัดโครงการมีเป้าหมายจะขยายเครือข่ายตัวแทนเยาวชนไทยและสร้างผู้นำด้านสันติภาพ หรือ Peace Leader กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้นักเรียนไทยได้เตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำและพลเมืองโลกในศตวรรษที่ 21 สามารถช่วยยุติปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในเร็ววัน