ร้านยากรุงเทพจับมือคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ พัฒนางานเภสัชกรรมมุ่งสู่ The Next Normal Pharmacy
นายชูวิทย์ วัยศิริโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด หรือร้านยากรุงเทพ และศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในโครงการ “พัฒนางานเภสัชกรรม” ณ คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีเจตจำนงในการพัฒนาการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์ โดยการสร้างเสริมประสบการณ์จริงผ่านระบบการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพในหลักสูตรเภสัชศาสตร์บัณฑิต และ/หรือ หลักสูตรบัณฑิตศึกษา เพื่อให้นิสิตเภสัชศาสตร์มีโอกาสในการพัฒนาตนเองให้สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ด้านวิชาการไปสู่การปฏิบัติงานจริง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างและพัฒนาทักษะในการปฏิบัติงาน และส่งเสริมให้นิสิตสำเร็จการศึกษาเป็นเภสัชกรที่เพียบพร้อมไปด้วยความรู้และประสบการณ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง
โดย “นายชูวิทย์ วัยศิริโรจน์” รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงเทพดรักสโตร์ จำกัด กล่าวว่า “ร้านยากรุงเทพจะให้การสนับสนุนในด้านการเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพเภสัชกรรมของนิสิตคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งทางด้านการให้คำปรึกษา จ่ายยา ให้คำแนะนำผู้ป่วยภายใต้การดูแลของเภสัชกรรุ่นพี่ ตลอดจนศึกษาระบบการทำงานต่างๆ และการใช้ Telepharmacy ให้นิสิตที่ฝึกงานได้สัมผัสการใช้เทคโนโลยีในงานเภสัชกรรมยุคใหม่ และสามารถนำไปพัฒนางานวิชาชีพเภสัชกรรมในอนาคต นอกจากนี้เรายังประสานความร่วมมือทางวิชาการ การปฏิบัติงาน การวิจัย อันจะเป็นการสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนทางวิชาการ การพัฒนาการศึกษาวิจัยทางเภสัชศาสตร์ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนางานทางเภสัชกรรมของทั้งสองฝ่าย ให้มีความพร้อมสำหรับการเป็นร้านยายุคใหม่ (The Next Normal Pharmacy) ที่เป็นศูนย์สุขภาพเบื้องต้นของชุมชน
ส่วนทางด้าน “ศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.พรอนงค์ อร่ามวิทย์” คณบดี คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มีความยินดีที่ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับร้านยากรุงเทพในครั้งนี้ ถ้านิสิตได้ไปฝึกงานในสถานที่ที่มีความมั่นใจ สบายใจและรู้สึกว่าเป็นสถานที่ที่ดี เชื่อมั่นว่าในอนาคตนิสิตเหล่านี้ก็จะกลับไปทำงานในสถานที่นั้น ซึ่งปัจจุบันนิสิตส่วนใหญ่ชอบทำงานร้านยา ไม่ว่าเรื่องสถานที่ ค่าตอบแทน และการได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยตรงทำให้นิสิตสนใจอย่างมาก นอกจากนี้จะแต่งตั้งให้บุคลากร/เภสัชกรได้เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงที่คณะฯ หรือได้เข้ามาร่วมให้ความรู้แก่นิสิต ด้วยการเป็นอาจารย์พิเศษ เพื่อสนับสนุนให้สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการในกรณีที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และพร้อมที่จะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ และการพัฒนาบุคลากรในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดหลักสูตรการอบรมสำหรับเตรียมความพร้อมในการเป็นอาจารย์พี่เลี้ยงให้แก่เภสัชกร/บุคลากรผู้รับผิดชอบการเรียนการสอนนิสิตเภสัชศาสตร์ตามจำนวนที่ทางคณะฯ พิจารณาจัดสรร รวมไปถึงช่วยในการประสานงานกับหน่วยงานการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่เภสัชกร/บุคลากรจากแหล่งฝึกที่ต้องการการศึกษาดูงาน หรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ อีกทั้งยินดีที่จะสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน”