KMITL Robotics & AI สจล. สานต่อนโยบายสู่…..ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก คว้าแชมป์ชนะเลิศการแข่งขัน Robocup Japan Open 2024 ด้วยหุ่นยนต์ฝีมือคนไทย
จากนโยบายของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดยรองศาสตราจารย์ ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สจล. ได้กล่าวไว้ว่า “สจล. มีนโยบายมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางด้านการศึกษา เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะสูง ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมสู่การเป็น ‘ผู้นำนวัตกรรมระดับโลก’ (The World Master of Innovation) สร้างโอกาสให้นักศึกษาออกไปแข่งขันทั้งในระดับประเทศและในระดับชาติ ถือเป็นการเปิดโลกทางการศึกษาให้กว้าง นอกจากจะเป็นการเพิ่มทักษะ ขีดความสามารถให้แก่ตนเองแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะด้าน Robotics& AI ได้มีการจัดเตรียมอุปกรณ์การเรียนการสอนและห้องแล็บที่ทันสมัย รวมถึงคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ มีความใส่ใจและพร้อมผลักดันให้นักศึกษาของเราก้าวสู่ระดับนานาชาติ จะเห็นได้จากความสำเร็จในการคว้ารางวัลชนะเลิศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของทีมไทยที่ชนะประเทศต่างๆ ในการแข่งขัน RobocupJapan Open 2024 ครั้งที่ 19 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยหุ่นยนต์ที่เราพัฒนาขึ้นเองภายใต้การผลักดันของรองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไลคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และทีมอาจารย์ที่ปรึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ประกอบด้วย ดร.ภูมิ คงห้วยรอบ หัวหน้าทีมที่ปรึกษา ดร.ศรุชา ยรรยง และ Mr. Supun Dissanayaka พร้อมทีมผู้เข้าแข่งขันรวม 14 คนเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ สจล. เราจะยังคงเดินหน้าเพื่อคว้าชัยชนะในระดับโลกต่อไป”
ดร.ภูมิ คงห้วยรอบ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์และหัวหน้าทีมที่ปรึกษาโครงการนี้ กล่าวว่า “ทีมKMITL Robotics & AI มีสมาชิก 14 คน ผนึกกำลังร่วมกันทำงานเพื่อให้ได้หุ่นยนต์ที่สมบูรณ์แบบตามมาตรฐานการแข่งขัน มีการแบ่งทีมทำงานเป็น 3 ส่วน คือ 1. งานด้าน Mechanics 2.งานด้าน Electronics และ3. งานด้านProgramming โดยแบ่งเป็น Robot operating system (ROS) และระบบ AI เพื่อให้น้องๆ ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยทีม ป โท มีนักศึกษาระดับปริญญาโทร่วมกันทำงานจำนวน 6 คน ได้แก่ นายจิรเมธ ศรีอ่อน นายฐิติพงศ์ เทพสิทธิ์ นายปริญญา ไสยโยธา นายชวภณ ธำรงวีระชาติ นายสัญชัย ซุน และนายธนกร เกรียงอุดม ทีมปริญญาตรี มีนักศึกษาระดับปริญญาตรี 5 คน ได้แก่ นายชิษณุพงศ์ แสงสินธุ์ นายปภิณวิช อาสนเพชร นายปัณณธร พนมธรรม นายชเนศ เรืองฤทธิ์ นายภัททวินท์ กัมมารพัฒน์ ทีมน้องๆ มัธยม มีจำนวน 3 คน นายศิวัชณัฐ แสงสุวรรณ นางสาวฟ้าใส จัสมิน เฟื่องจันทร์ และนายวชิรวิชญ์ อารยะสัจพงษ์จากโรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยขอนแก่นฝ่ายมัธยมศึกษา ที่ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ไทยแลนด์ โอเพ่น 2024 ช่วงสิ้นเดือนมีนามคมที่ผ่านมาได้มาร่วมในทีม โดยมีนายณัฐภาสน์ คุ้มกลางนักศึกษาระดับปริญญาเอกจาก KyutechUniversity และอาจารย์พิเศษภาควิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ สจล. ช่วยควบคุมดูแลการทำงาน”
“จากทีมที่แกร่ง…สู่ทีมที่เก่ง ด้วยระยะเวลาอันจำกัดเพียงสองสัปดาห์ที่เราเริ่มใหม่ทำใหม่ทั้งหมด เนื่องจากระยะเวลาและการจัดหาของในการแข่งขันที่จะซื้อหุ่นยนต์สำเร็จรูปจากต่างประเทศเหมือนทีมที่เข้าแข่งขันจากประเทศอื่นซึ่งต้องใช้งบประมาณ 2-3 แสนบาทต่อหุ่นยนต์1 ตัว ประกอบกับเราคิดว่าเรามีการพัฒนาวิจัยสร้างแพลตฟอร์มที่ใช้งานได้จริงมาแล้วตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในการทำหุ่นยนต์เพื่อใช้ในวงการอุตสหกรรม และในช่วงที่โควิดระบาด อาทิ การผลิตเครื่องช่วยหายใจอัตโนมัติขนาดเล็ก (Mini Emergency Ventilator) หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อ หรือแม้กระทั่งหุ่นยนต์เสิร์ฟอาหารบนรถไฟระดับ Premium ซึ่งล้วนเป็นนวัตกรรมที่ได้ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง เราจึงมีความมั่นใจในการสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อเข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ โดยน้องๆ นักศึกษาได้นำทักษะ ความรู้ความสามารถจากการเรียนในภาควิชาหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ มาสร้างผลงานขึ้นใหม่ มีอิสระทางความคิดและจินตนาการในการสร้างหรือเพิ่มเติมตามที่ต้องการจนได้แพลตฟอร์มมาตรฐานเทียบเคียงกับหุ่นยนต์ของเยอรมันที่ใช้สำหรับการแข่งขัน ภายใต้งบประมาณเพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น และนี่ถือเป็นข้อดีที่ทำให้เราแตกต่างจากทีมอื่น การทำงานเป็นทีมและการวางแผนงานในทุกขั้นตอนเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานภายใต้ระยะเวลาอันจำกัด การขนย้ายอุปกรณ์โดยการแยกแต่ละชิ้นส่วน แล้วนำไปประกอบใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นรวมถึงการทดสอบกับสนามแข่งขันจริงซึ่งแตกต่างจากในประเทศไทย เช่น สภาพอากาศ ระดับแสง อันเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้คำสั่งต่างๆ เกิดข้อผิดพลาดได้ แต่ทีมเราก็สามารถทำตามที่วางแผนไว้ได้ โดยใช้เวลาในการประกอบหุ่นยนต์ประมาณ 4 ชั่วโมง ซึ่งทีมจากประเทศอื่นจะใช้หุ่นยนต์สำเร็จรูปจากบริษัทชั้นนำใน Industrial logistics league การแข่งขันใช้กฎตาม Rulebook ของ World Robocup2023 และการแจกคำสั่ง หรือ Task จะเป็นการสุ่ม (random) จาก server ส่วนกลาง ที่เรียกว่า Referee Box เพราะฉะนั้น ผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมจะไม่มีใครรู้คำสั่งล่วงหน้า ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นของทีม….และทุกคนบอกว่าเราต้องไปให้สุด และหยุดที่ต้องชนะให้ได้ ในที่สุดทีม KMITL Robotics & AI ก็สามารถสร้างความภูมิใจ สร้างรอยยิ้มและความสุขให้กับประเทศไทย ด้วยการทำคะแนนสูงสุดคว้ารางวัลชนะเลิศ การแข่งขัน Robocup Japan Open 2024 ครั้งที่ 19 ชนะญี่ปุ่นประเทศเจ้าภาพที่เป็นแชมป์มาตลอดหลายปี”
รองศาสตราจารย์ ดร.สมยศ เกียรติวนิชวิไลคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวว่า “การแข่งขัน Robocup Japan Open 2024 ที่ประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นครั้งที่ 19 ซึ่งมีการจัดมาแล้วตั้งแต่ปี 2005 ปีนี้มีการแข่งขันกว่า 10 league รวมผู้เข้าร่วมมากกว่า 400 คนจากทั้งญี่ปุ่น ไทย มาเลเซีย ไต้หวัน และอื่นๆ ชัยชนะครั้งนี้นับเป็นความภาคภูมิใจไม่ใช่แค่ สจล. แต่เป็นของประเทศไทยด้วย ถือเป็นครั้งแรกของทีมไทยที่ชนะประเทศต่างๆ ในการแข่งขันนี้ ด้วยหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นเองโดยคนไทย แข่งขันกับทีมอื่นที่ใช้หุ่นยนต์สำเร็จรูปจากบริษัทชั้นนำใน Industrial logistics league ทีม KMITL Robotics & AI สจล. จะไม่หยุดอยู่แค่นี้ จะมีการพัฒนาต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าหมายเข้าร่วมแข่งขันในระดับโลก World Robocupเพื่อสร้างชื่อเสียงจากการแข่งขันระดับโลกสู่ประเทศไทยต่อไป”