
ศูนย์วิจัยการแปลงเป็นดิจิทัลมฟล. จับมือ กองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวฯ เปิดตัว“แพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บล็อกเชน”เพื่อการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการตลาดข้าวไทยในตลาดโลก
ดร.ดำรงพล คำแหงวงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยการแปลงเป็นดิจิทัล สำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจ (DTRAB center) สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวถึงโครงการ “แพลตฟอร์มพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์บล็อกเชน เพื่อการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมการตลาดข้าวไทยในตลาดโลก แก้ปัญหาความยากจนและเสริมศักยภาพการแข่งขันของข้าวไทยอย่างยั่งยืน” ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากโครงการยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปีงบประมาณ 2567 ว่า โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์วิจัยการแปลงเป็นดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและธุรกิจ (DTRAB Center) สำนักวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับแพลตฟอร์มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่ชื่อว่า “ แพลตฟอร์ม DLT-Blockchain” เพื่อนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลมาตรฐานเปิดสำหรับการซื้อ-ขายของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องข้าวไทย ตั้งแต่ชาวนาจนถึงผู้ส่งออก ระบบการทำงานของแพลตฟอร์มนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้กับตลาดข้าวไทย โดยอาศัยการเปิดเผยข้อมูลปริมาณการซื้อ-ขาย รวมถึงคุณภาพการผลิตข้าวและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAP), มาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP), การรับรองเกษตรอินทรีย์, คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint), คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit), การรับรองสินค้าเกษตรไม่เผา (Non-Burning Agricultural Product Certification) รวมถึงมาตรฐานคุณภาพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
ข้อมูลมาตรฐานและคุณภาพที่บันทึกไว้ในแพลตฟอร์มดังกล่าว ช่วยสะท้อนจุดขายและเอกลักษณ์ของข้าวจากเกษตรกรแต่ละราย ทำให้สามารถกำหนดราคาจำหน่ายได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับคุณภาพและมูลค่าที่แท้จริงของสินค้า นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรเชื่อมโยงกับผู้ซื้อได้โดยตรง ลดการพึ่งพาพ่อค้าคนกลางและปัญหาการถูกกดราคารับซื้อ ส่งผลให้เกิดตลาดข้าวในรูปแบบดิจิทัลที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถกำหนดราคาตามคุณภาพข้าวที่ผลิตได้อย่างเป็นธรรม แนวทางนี้ไม่เพียงเพิ่มมูลค่าข้าวไทยในตลาด แต่ยังช่วยสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในระยะยาว
การใช้แพลทฟอร์ม “DLT-Blockchain” ในการทำธุรกรรมซื้อขายข้าวไม่ได้จำกัดเฉพาะตลาดภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการภาคการเกษตรอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย ซึ่งเป็นกลุ่มหลักในภาคเกษตรกรรมของประเทศ ช่วยเสริมสร้างอำนาจต่อรองในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช และเครื่องมือทางการเกษตร
นอกจากนี้ แพลตฟอร์ม DLT-Blockchain ยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับ มาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) ของประเทศคู่ค้า เช่น มาตรฐานGMP และการรับรองผลิตภัณฑ์เกษตรอินทรีย์ (Organic Certification) เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้ที่ถูกรวบรวมอย่างเป็นระบบในบล็อกเชน สามารถนำไปวิเคราะห์ร่วมกับ ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการบริหารจัดการภาครัฐ ทั้งในด้านการลดต้นทุนการผลิต การวางแผนพื้นที่เพาะปลูก และการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ ยิ่งไปกว่านั้น เทคโนโลยีนี้ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตลาด การขยายช่องทางการส่งออกข้าวไทยสู่ตลาดสากล และการขับเคลื่อนเกษตรกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ดร.ดำรงพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ระบบ DLT-Blockchain ได้มีการทดลองใช้งานจริงกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวอินทรีย์เมืองเขมราฐธานี จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีเกษตรกรเป็นสมาชิกกว่า 300 ราย และได้รับผลตอบรับที่ดีจากการนำระบบมาใช้ในการซื้อขายข้าว ทั้งในด้านความสะดวก ความโปร่งใส และประสิทธิภาพของการทำธุรกรรม คาดว่าระบบจะพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และเปิดให้เกษตรกร ประชาชน รวมถึงผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายย่อยที่ต้องการซื้อขายข้าว สามารถเข้าใช้งานแพลตฟอร์มได้ภายในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ สำหรับเป้าหมายในระยะต่อไป DLT-Blockchain จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้สามารถบันทึกข้อมูลหน่วยคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) และปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อรองรับแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน หากภาคเกษตรของไทยสามารถผลิตข้าวด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งบันทึกข้อมูลดังกล่าวเข้าสู่ระบบ DLT-Blockchain ได้ ก็จะเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการแข่งขันด้านการค้าข้าวของไทยในตลาดโลก
นายขจร โนวัฒน์ ผู้อำนวยการกองตรวจสอบรับรองมาตรฐานข้าวและผลิตภัณฑ์ กรมการข้าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า เกษตรกรและผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญกับการขอรับการรับรองมาตรฐานต่าง ๆ อาทิ มาตรฐานการผลิตที่ดี (GMP) และมาตรฐานข้าวคุณภาพ (ผลิตภัณฑ์ข้าว Q) ซึ่งการได้รับการรับรองดังกล่าว รวมถึงการมี QR Code สำหรับระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability System) จะช่วยให้คู่ค้าสามารถติดตามที่มาของผลผลิตได้ตลอดกระบวนการผลิต
สิ่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพของผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภคและคู่ค้าเท่านั้น แต่ยังกลายเป็น ข้อได้เปรียบทางการค้า ในตลาดยุคปัจจุบันที่ทั้งในและต่างประเทศให้ความสำคัญกับความโปร่งใสและความปลอดภัยในห่วงโซ่อุปทาน หากเกษตรกรสามารถได้รับใบรับรองที่ตรงตามข้อกำหนดของตลาดเป้าหมาย ก็จะสามารถจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น