ทพ.อรรถพร รองสปสช.เยี่ยมชมและติดโลโก้ใหม่ 30บาทรักษาทุกที่ ให้หน่วยนวัตกรรมในเชียงใหม่ พร้อมเน้นย้ำให้ยืนยันสิทธิผู้ป่วยด้วยบัตรประชาชน และส่งเบิกค่ารักษาแบบวันต่อวัน ป้องกันถูกปฏิเสธการจ่าย
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยทพญ.ปาริชาติ ลุนทา ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช.เขต1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่เยี่ยมชมหน่วยนวัตกรรม คลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ.ฟัน ที่เข้าร่วมโครงการ30บาท รักษาทุกที่ อ. เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยเข้าร่วมโครงการเฟส 3 มาแล้วเกือบ 3 เดือน
ทพญ.อัญชลี เวียงคำ เจ้าของคลินิก กล่าวว่า หลังเข้าร่วมโครงการ มีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ทั้งกลุ่มคนพื้นเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์ มาใช้บริการ ขูด อุด ถอน และเคลือบหลุมร่องฟัน เพิ่มขึ้นถึง20% หรือเฉลี่ยวันละ10คน นอกจากช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษาแล้ว ยังช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลเชียงดาวได้ ที่คลินิกมีคนใช้สิทธิบัตรทอง มาใช้บริการ เช่น ขูดหินปูน ที่ปกติผู้ป่วยต้องรอคิวที่รพ.เชียงดาวนานถึง 3 เดือน/คน ตอนนี้คิวสั้นลงเหลือเพียง 1 เดือนเท่านั้น
“ แต่ละวันมีผู้มาใช้บริการเฉลี่ย 10 คน ส่วนใหญ่เป็นคนเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ มาจากการบอกปากต่อปาก และมีหลายรายที่มาใช้บริการซ้ำ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย และไม่ต้องไปรอคิวนานที่โรงพยาบาล”
นอกจากนี้คณะยังลงเยี่ยมชมพร้อมรับฟังและดูระบบการเบิกจ่ายที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ โดยมีประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง รวมทั้งมีการเสียบบัตรประชาชน มาใช้บริการด้วยเพื่อยืนยันตัวตนว่ามารับบริการจริง
ส่วนช่วงบ่าย คณะยังลงพื้นที่เยี่ยมและรับฟังร้านยา “ริญญ์เภสัช“ ต.ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ที่เข้าร่วมโครงการร้านยาคุณภาพ และโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่เพื่อคนไทยสุขภาพดีถ้วนหน้า ซึ่งมี ภญ.ชญานิศ นิธิโกเมศ เจ้าของร้านยา “ริญญ์เภสัช“ กล่าวว่า เข้าร่วมโครงการมาได้ประมาณ 1เดือน ที่เข้าร่วมเพราะกลุ่มลูกค้าจะเป็นชาวบ้าน ชุมชนโดยรอบ ส่วนใหญ่ใช้สิทธิ์บัตรทอง เพราะต้องการให้พวกเขาได้เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายยังไม่ค่อยมีปัญหา ได้รับเงินเร็ว อยากฝากร้านยาหลายที่แห่งว่าให้ร่วมเข้าร่วมโครงการฯไม่ต้องกังวลเรื่องการเบิกจ่ายเงินชดเชยเพราะสปสช.มีผู้ให้การสนับสนุนช่วยเหลือตลอดหากมีปัญหาติดขัด หรือไม่ก็สามารถโทรปรึกษา 1330 ก็ได้
ภญ.ชญานิศ กล่าวต่อว่า สำหรับที่ร้านยาแห่งนี้ ได้เข้าร่วมโครงการ ดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ละวันมีผู้มาใช้บริการ 5-8 คน จากการบอกปากต่อปาก และมีหลายรายที่มาใช้บริการซ้ำ เพราะสะดวก เข้าถึงง่าย และไม่ต้องไปรอคิวนานที่โรงพยาบาล
ด้านทพ.อรรถพร กล่าวภายหลังเยี่ยมชมและรับฟังข้อมูลพร้อมยังเน้นย้ำว่า ขอให้คลินิกที่เข้าร่วมโครงการยืนยันข้อมูลผู้ป่วย ด้วยการเสียบบัตรประชาชนกับเครื่องอ่านบัตร และคีย์ใบแจ้งหนี้ เพื่อเบิกค่ารักษาจาก สปสช.แบบวันต่อวัน จะได้ไม่ถูกปฏิเสธการจ่าย และได้รับเงินภายใน3วัน
“ตอนนี้เราทำงานร่วมกับกรุงไทย เขาจะมีระบบเครื่องอ่านบัตร เราเสียบ มันจะขึ้นข้อมูลมาเลย คลินิกไม่ต้องกรอก เราจะไปอ่านข้อมูลจากบัตรปชช. แล้วเราจะรู้ว่าปชช.มาจริง ตอบ สตง.ได้ว่ามาจริง ก็ไปบันทึกการรักษา เสร็จแล้วส่งเบิก เราเน้นขอให้ยืนยันตัวตนและส่งเบิกภายในวันที่ให้บริการ”รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวและว่า ตนยังมีร่วมติดตราสัญลักษณ์ใหม่ 30 บาทรักษาทุกที่ ให้กับทางคลินิกทันตกรรมกู๊ด ฟ.ฟัน แห่งนี้ รวมถึงที่ร้านยา “ริญญ์เภสัช” ใน อ.แม่ริม อีกด้วย เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้ผู้มีสิทธิ์บัตรทองมาใช้สิทธิรักษาได้ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยไม่เสียเงิน และไม่ต้องมีใบส่งตัว
ทั้งนี้ จากข้อมูล Dashboard สปสช.(เมื่อวันที่ 27 สค.67) ภาพรวมการบริการและเบิกจ่ายนวัตกรรม 7 ประเภท ประกอบด้วย คลินิก Lap คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกเภสัชกรรม(ร้านยา) และคลินิกการพยาบาล พบว่า มีจำนวนทีาขึ้นทะเบียนแล้ว 9,048 แห่ง มีจำนวนหน่วยที่ให้บริการ 3,997 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิบัตรทอง 1,683,529 คน ให้บริการ 3,338,948 ครั้ง โดยสปสช.จ่ายแล้ว 700,567 ,594บาท
สำหรับ การให้บริการ และเบิกจ่ายคลินิกทันตกรรมใน สปสช.เขต1 เชียงใหม่ มีจำนวนคลินิกทันตกรรมขึ้นทะเบียนแล้ว 190 แห่ง ขณะที่มีหน่วยให้บริการ 140 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 21,139 คน ใช้บริการ แล้ว 36,304 ครั้ง สปสช. จ่ายแล้ว 24,918, 000 บาท
ขณะที่การให้บริการนั้นเภสัชกรรม(ร้านยา) ในพื้นที่สปสช.เขต1 เชียงใหม่ มีจำนวน 463 แห่ง มีหน่วยให่บริการ 254 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 109,124 คน ใช้บริการแล้ว246,448 ครั้ง จ่ายแล้ว 42,380,480 บาท.