สปสช. เน้นย้ำการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายต้องมีมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เลขาธิการ สปสช. ลงนามประกาศ “คุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการ หน่วยชีวาบาล” ยึดตามหลักเกณฑ์ สธ.
สปสช. ออกประกาศมาตรฐาน “หน่วยชีวาบาลระบบบัตรทอง”ยึดตามเกณฑ์ สธ. พร้อมมีหนังสือรับรองจากกรมอนามัยหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากได้รับมอบนโยบายขับเคลื่อน “สถานชีวาภิบาล” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบาย Quick win โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทาง สปสช. ได้ดำเนินการในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ “ข้อเสนอการกําหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545”
สำหรับสาระสำคัญ คือการกำหนดให้หน่วยงานหรือองค์กรที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะสุดท้าย ทั้งนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล อาทิ หน่วยบริการของรัฐที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย องค์กรศาสนา เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด หรือองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น ชุมชนกรุณา (peaceful death) ชีวามิตร เยือนเย็น เครือข่ายมิตรภาพบําบัด ชมรมผู้ป่วย หรือเครือข่ายจิตอาสาต่างๆ รวมทั้ง สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ (nursing home) เป็นต้น โดยหน่วยบริการเหล่านี้สามารถจัดบริการได้ทั้งการมีสถานที่ให้ผู้ป่วยพักค้าง เช่น หอผู้ป่วยในหน่วยบริการหรือในศาสนสถาน รวมทั้งการออกไปให้บริการดูแลผู้ป่วยที่บ้านหรือในชุมชนได้
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่จะสมัครเข้าเป็นสถานบริการสาธารณสุข ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะต้องมีคุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการตามที่กำหนดและได้รับการรับรองจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ องค์กรเอกชนที่เป็นนิติบุคคลที่ สปสช. รับรอง มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการหรือกิจกรรมที่จัดบริการจากกรมอนามัย จากมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ สปสช. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นเป็นสถานบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ รองรับ
ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามประกาศฉบับนี้ ให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ในฐานะเลขาธิการ สปสช. ได้ลงนาม “ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง คุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการขององค์กร หรือหน่วยงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง หรือบริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย พ.ศ. 2567” แล้ว โดยกำหนดให้การดำเนินการหน่วยชีวาบาลในระบบบัตรทอง เป็นไปตามคุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีหนังสือรับรองจากกรมอนามัยหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี สำหรับสถานชีวาบาลที่ได้หนังสือรับรองคุณสมบัติฯ จากกรมอนามัยตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 66 ให้ถือเป็นหน่วยบริการที่ได้รับการรับรองตามประกาศนี้ด้วย
“จากประกาศข้างต้นนี้ จะทำให้หน่วยบริการที่ร่วมดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่เป็นผู้ป่วยสิทธิบัตรทองจัดบริการที่เป็นตามมาตรฐาน ทำให้ช่วงสุดท้ายของชีวิตผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีตามหลักเกณฑ์การจัดการดูแลของกระทรวงสาธารณสุขและกรมอนามัย โดยหน่วยงานหรือองค์กรที่ดูแลผู้ป่วยระยะท้ายมาร่วมเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาบาลกับ สปสช. จะสามารถเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายการดูแลผู้ป่วยตามสิทธิประโยชน์ที่ สปสช. กำหนดได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีวัดที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านชีวาภิบาล จำนวน 3 แห่ง คือ 1.วัดหนองกระดูกเนื้อ จ.นครสวรรค์ 2.วัดคำประมง จ.สกลนคร และ 3.วัดพระบาทน้ำพุ จ.ลพบุรี” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ทั้งนี้ ในวันนี้(2 พค.67) นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย สปสช.เขต 7 ขอนแก่น ลงเยี่ยม และติดตามความก้าวหน้า วัดท่าประชุม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเตรียมความพร้อมเข้ามาตรา 3 ตามพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เป็นสถานชีวภิบาลต้น ต้นแบบของเขต 7 ขอนแก่น ณ วัดท่าประชุม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น โดยหน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. (หน่วยบริการของรัฐที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย) จากนั้น พระอธิการประชุม คมฺภีรธมฺโม เจ้าอาวาสวัดท่าประชุมพาคณะเยี่ยมชมกุฏิชีวภิบาล