สปสช.เยี่ยมชมการทำงานนายกอบจ.สุโขทัยให้ความสำคัญ กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ มีการบริหารจัดการที่ดี มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด หนุนจัดตั้งศูนย์ยืม-คืน กายอุปกรณ์และนวัตกรรมของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็ก รพ.ศรีสังวรฯ
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.พร้อมด้วย ผู้บริหาร สปสช.เขต 2 พิษณุโลก ลงพื้นที่โรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย โดยมีนายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย และนพ.เธียรชัย กิจสนาโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย นำคณะเยี่ยมชมห้องกิจกรรมกายภาพบำบัดโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย ส่งเสริมส่งเสริมพัฒนาการเด็กในชุมชน และให้บริการเครื่องช่วยความพิการ :นวัตกรรมเพิ่มคุณภาพชีวิตเด็ก-คนพิการในท้องถิ่นครบวงจร”ภายใต้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดสุโขทัย
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ภาพรวมของกองทุนฟื้นฟูฯปี 2567 มีกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 70 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 92.1 (อบจ.ทั้งหมด 76 จังหวัด) มีการสนับสนุนโครงการสำหรับศูนย์ยืม-คืนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ศูนย์ซ่อมกายอุปกรณ์ และการจัดสภาพแวดล้อมหรือบริการขั้นพื้นฐานเพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับการ
รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ ระดับจังหวัด พื้นที่เขต 2 ได้แก่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ตาก สุโขทัย และอุตรดิตถ์ มีการใช้จ่ายเงินที่มีแนวโน้มดีขึ้น โดยปีงบประมาณ 2563 – 2566 เงินคงเหลือลดลงจากร้อยละ 91.61, 80.14, 52.73, 38.74 ตามลำดับ ปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมาเขต 2 มีเงินคงเหลือน้อยเป็นอันดับที่ 2 ของประเทศ อันดับ 1 นครราชสีมา เงินคงเหลือ ร้อยละ 21.71 การเบิกจ่ายงบประมาณที่มีการจ่ายมาก 2 อันดับแรก ได้แก่ สนับสนุนการให้ยืมกายอุปกรณ์ฯ ร้อยละ 44.98 การจัดสภาพแวดล้อม ร้อยละ 35.64
“ทั้งนี้กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ จังหวัดสุโขทัย ถือว่าเป็น อบจ.ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกองทุนที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากเป็นไปตามเป้าหมาย” ทพ.อรรถพรกล่าว
ด้าน นายมนู พุกประเสริฐ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2566 งบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ มีงบประมาณจำนวน 9.7 ล้านบาท ปัจจุบันใช้งบประมาณไปแล้วจำนวน 9.4 ล้านบาท คงเหลือ 286,540 บาท คิดเป็นร้อยละ 3 แบ่งเป็น สนับสนุนการจัดสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย 3,450,000 บาท สนับสนุน การจัดตั้งศูนย์ยืม-คืน กายอุปกรณ์ 3,346,050 บาท การจัดบริการฯ และอุปกรณ์ของหน่วยบริการ 975,040 บาท การซ่อม ดัดแปลงเปลี่ยนชิ้นส่วนกายอุปกรณ์ 300,000 บาท สนับสนุนการพัฒนารูปแบบการดูแล ช่วยเหลือและฟื้นฟูในระดับชุมชน 238,975 บาท และผ้าอ้อมผู้ใหญ่ 93,451 บาท
“ขอบคุณสปสช.ที่มีกองทุนฯนี้ขึ้นมา ทำให้ประชาชนคนไทยมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะจากที่ตนลงพื้นที่จะพบเห็นบ่อยครั้งว่ายังมีประชาชนจำนวนมากเข้าไม่ถึงการยืมกายอุปกรณ์ เช่น เตียง รถเข็นวีลแชร์ เป็นต้น เพราะงบกองทุนฯที่สปสช.จัดสรรให้รวมทั้งอบจ.สมทบส่วนหนึ่งจะเข้ามาช่วยดูแล“นายก อบจ.สุโขทัย กล่าว
ด้านนพ.เธียรชัย กิจสนาโยธิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีสังวรสุโขทัย จ.สุโขทัย กล่าวว่า กลุ่มผู้ป่วย คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีภาวะทุพพลภาพ มีความจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านหรือในชุมชน แต่อุปกรณ์ที่ผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องการบางชนิด โรงพยาบาลมีไม่เพียงพอหรือมีข้อจำกัดในการให้บริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายไม่ได้รับอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามความจำเป็น และผู้มีภาวะเหล่านี้อาจมีความยากลำบากในการเข้าถึงบริการ
ผอ.รพ.ศรีสังวรสุโขทัย กล่าวว่า ขณะเดียวกันก็มีปัญหาในการดำรงชีวิตทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่สามารถมาโรงพยาบาลได้บ่อยครั้ง เนื่องจากอยู่ในเขตชุมชนห่างไกล ไม่มียานพาหนะเป็นของตนเอง กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลศรีสังวรฯ จึงจัดทำ “โครงการธนาคารกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน และโครงการห้องสมุดของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการ” ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จังหวัดสุโขทัย โดยอบจ.สุโขทัยอนุมัติให้จัดทำโครงการในปี 2566
“โครงการธนาคารกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพในชุมชน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 348,883 บาท มีการจัดซื้อรถนั่งคนพิการชนิดพับได้ จำนวน 15 คัน เครื่องช่วยเดิน 4 ขา แบบมีล้อ (wheel walker) จำนวน 12 ชิ้น เฟาว์เลอร์ ชนิดมือหมุนแบบ 3 ไก จำนวน 10 เตียง ญาติและผู้ดูแลผู้ป่วย คนพิการในชุมชนติดต่อยืมกายอุปกรณ์และเครื่องช่วยความพิการอย่างต่อเนื่อง
ส่วนโครงการห้องสมุดของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนฟื้นฟูฯ วงเงิน 38,657 บาท มีการจัดซื้อของเล่นฟื้นฟูพัฒนาการเด็กพิการ เพื่อให้ผู้ปกครองได้ยืมของเล่นไปฝึกพัฒนาการบุตรหลานตามโปรแกรมการฝึกที่บ้าน ไม่ต้องลำบากในการจัดซื้อ จัดหา โดยเฉพาะเด็กพิการที่ขึ้นทะเบียน ท 74 จำนวน 15 ราย เป็นสมองพิการ (Cerebral palsy) 9 ราย, เด็กดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) 3 ราย, และเด็กออทิสติก (Autistic) 3 ราย ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ร้อยละ 93.33 และยังขยายการใช้ของเล่นนี้ในกลุ่มเด็กที่มีปัญหาพัฒนาการกลุ่มอื่นๆ ด้วย นอกเหนือจากเด็กพิการด้วย”
สำหรับสถานการณ์คนพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย จ.สุโขทัย ปี 2564 มีจำนวน 15,655 ราย ส่วนผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง อ.ศรีสำโรง ในพื้นที่รับผิดชอบของ รพ.ศรีสังวรฯ ปี 2566 จำนวน 37 ราย จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13,665 ราย ผู้ป่วยประคับประคอง ระยะสุดท้าย จำนวน 77 ราย ขณะที่เด็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยปี 2563-2565 จำนวน 214, 226 และ 281 ราย ปี 2566 มีเด็กพิการขึ้นทะเบียน ท74 จำนวน 12, 7, 15 ราย ตามลำดับ
ช่วงบ่ายคณะสปสช.พร้อมผู้บริหารสปสช.ในเขตสุขภาพที่ 2 พิษณุโลก เยี่ยมบ้านด.ช.เตชิน ทองมน อายุ6 ขวบ ป่วยมีอาการดาวน์ซินโดรม โดยมีน.ส.วรารัตน์ เนียมกำเนิด ผู้ปกครองของด.ช.เตชิน ไปรักษาที่รพ.ศรีสังวร จ.สุโขทัย โดยทางรพ.ได้ให้มีการยืมอุปกรณ์ของเล่นเด็กเพื่อใช้ในการรักษา โดยน.ส.วรารัตน์ ผู้ปกครอง(น้า) เล่าว่า น้องเตชินมีพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆหลังจากไปทำการรักษาที่รพ.และทางรพ.ให้ยืมอุปกรณ์ของเล่นเด็กเพื่อมาฝึกที่บ้าน อยากขอบคุณทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือโดยเฉพาะบัตรทอง30บาททำให้ไม่ต้องเสียเงินไปรักษา
คณะยังได้ยี่ยมบ้านของ ยายจันทร์ราม รอดม่วง อายุ 75 ปี ป่วยติดเตียงซึ่งได้มีการยืมกายอุปรณ์(เตียงตนไข้)จากกองทุนฟื้นฟู ที่รพ.จัดหาให้ ทำให้ยายจันทร์รามมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น