
กรมอนามัย จับมือ สปสช. กรมพินิจฯ เร่งหนุนบริการทันตกรรม มอบโอกาสให้เด็กและเยาวชน กลุ่มเปราะบาง
เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568 ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นางปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม และ ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงความร่วมมือ (Kick off) การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ณ ศูนย์ฝึกฯชายบ้านกรุณา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ
ดร.นายแพทย์ปองพล วรปาณิ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยให้ความสำคัญกับโครงการพระราชดำริ “ราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในปีงบประมาณ 2568 นี้ กรมอนามัยมุ่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รวมทั้งสุขภาพช่องปากเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ให้ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม ตามหลักมนุษยธรรม ปัจจุบันเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ เข้าถึงบริการทันตกรรมต่ำมาก เนื่องจากมีข้อจำกัดในการเข้ารับบริการด้วยตนเอง จึงร่วมกับสมาคมรถทันตกรรมเคลื่อนที่เพื่อมาให้บริการเชิงรุก ซึ่งเหมือนกับได้ไปรักษาที่คลินิกหรือรพ.
จากข้อมูลปี 2567 ของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จำนวน 4,901 คน พบว่า ร้อยละ 20.6 หรือ จำนวน 1,009 ราย เจ็บป่วยจากโรคฟันผุ กรมอนามัยจึงได้จับมือกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพช่องปากในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย รวมทั้งตั้งเป้าหมาย ร้อยละ 80 เด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ได้เข้าถึงบริการทันตกรรม ส่งเสริมป้องกัน หรือบริการทันตกรรมตามความจำเป็น
“ทั้งนี้ กรมอนามัยและภาคีเครือข่ายได้ร่วมกันพัฒนาโมเดลทันตกรรม รัฐ-เอกชน ร่วมดูแลสุขภาพช่องปาก
เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมตามชุดสิทธิประโยชน์อย่างเป็นระบบ โดยมีระบบสนับสนุนที่มีประสิทธิภาพจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้เด็กและเยาวชนในกลุ่มดังกล่าว สามารถดูแลสุขภาพช่องปากด้วยตนเอง (Self-care) และเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรม (Access to care) ได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม และสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพช่องปากที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้าน ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช. มีหน้าที่สนับสนุนและได้กำหนดสิทธิประโยชน์การให้บริการทันตกรรม และสิทธิประโยชน์ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับผู้ต้องขังในสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ กลุ่มเปราะบาง รวมทั้งคลินิกทันตกรรมที่ร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สามารถให้บริการทันตกรรมผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์บัตรทองหรือ โครงการบัตร30 บาทรักษาทุกที 6 รายการ ได้แก่ ตรวจสุขภาพช่องปากและวางแผนการรักษา ขูดหินปูน อุดฟัน ถอนฟัน เคลือบหลุมร่องฟัน และเคลือบฟลูออไรด์
การขับเคลื่อนการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากเด็กและเยาวชนในสถานพิ นิจฯ และศูนย์ฝึกฯ โดยทีมรถทันตกรรมเคลื่อนที่และโรงพยาบาลแม่ข่ายในครั้งนี้ อยู่ภายใต้โครงการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท ในการให้บริการกับสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ โดยรถทันตกรรมเคลื่อนที่ สปสช. มั่นใจว่าจะสามารถให้บริการแก่กลุ่มเปราะบางได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ” รองเลขาธิการสปสช. กล่าว
ทางด้าน นางปรีดา วิสาโรจน์ รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า กรมพินิจและ
คุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม มีภารกิจหลักในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เยาว์ตามคำพิพากษาหรือตามคำสั่งของศาลและการพิทักษ์ คุ้มครองสิทธิ สวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนที่กระทำผิดที่เข้าสู่กระบวนยุติธรรมในระหว่างพิจารณาคดี และหลังพิจารณาคดี รวมทั้งพัฒนาและสนับสนุนการจัดระบบบริการสาธารณสุขของเด็กและเยาวชน ในสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกฯ ให้ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพและสุขภาพช่องปาก การป้องกันควบคุมโรค การรักษาพยาบาล การฟื้นฟูสมรรถภาพ ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพ อย่างทั่วถึงและเสมอภาค
ในปี 2568 มีนโยบายให้สถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ทั้ง 58 แห่งทั่วประเทศ ดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพ
ช่องปากร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย ได้แก่ การกำหนดนโยบายเครื่องดื่มลดหวาน การเพิ่มความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปากการแปรงฟันสูตร 2 2 2 และการตรวจเฝ้าระวังสุขภาพช่องปากและส่งต่อบริการทันตกรรมตามความจำเป็นซึ่งถือเป็นกิจกรรมตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุข ทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์กษัตริย์ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดีต่อไป” รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าว
ด้าน ทพ.ดำรง ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ กรมอนามัยและเครือข่ายทันตบุคลากรจังหวัดสมุทรปราการได้ร่วมกันจัดบริการทันตกรรม ร่วมกับรถทันตกรรมของคลินิกเอกชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กิจกรรมประกอบด้วย 1) กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพช่องปากโดยโรงพยาบาลแม่ข่าย ได้แก่ ตรวจสุขภาพช่องปากและวางแผนการรักษาตามความจำเป็น ฝึกทักษะการแปรงฟันร่วมกับการย้อมสีฟันก่อนเข้ารับบริการทันตกรรม และ 2) รถทันตกรรมจากคลินิกเอกชนจัดบริการทันตกรรมตามแผนการรักษาของโรงพยาบาลแม่ข่าย
และสรุปข้อมูลทันตกรรมส่งสถานพินิจฯ และศูนย์ฝึกฯ ภายใน 1 สัปดาห์โดยกลุ่มเป้าหมายครั้งนี้เป็นเด็กและเยาวชนจากสถานพินิจฯ สมุทรปราการ ศูนย์ฝึกฯ สมุทรปราการ และศูนย์ฝึกฯชายบ้านกรุณา จำนวน 150 คน จัดบริการทันตกรรมในวันที่ 5 – 6 กุมภาพันธ์ 2568 โดยโมเดลทันตกรรมรัฐ-เอกชนร่วมดูแลสุขภาพช่องปาก 3S2R Model (Screening, Service, Self-care, Record data, Recall) ที่พัฒนานี้จะนำไปขยายผล วางแผนการจัดบริการทันตกรรม ทุก 6 เดือน ในสถานพินิจฯและศูนย์ฝึกฯ ทั้ง 58 แห่งทั่วประเทศต่อไป