คณะอนุกรรมการกำหนด หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน ลงพื้นที่ ติดตามระบบการคัดกรอง ส่งต่อ และดูแลรักษามะเร็งไปได้ทุกที่พร้อมรับฟังปัญหา-อุปสรรค หน่วยบริการสาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567 ดร.ดวงตา ตันโช ประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุน พร้อมด้วย พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประกันสุขภาพ บอร์ดสปสช. นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ดสปสช. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสปสช. และ นายธงชัย สิทธิยุโณ รักษาการผอ.สปสช.เขต11 สุราษฎร์ธานี โดยมี นายแพทย์พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผอ.รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช และคณะสหวิชาชีพ ให้การต้อนรับและนำเสนอผลการดำเนินงาน ปัญหา และอุปสรรคในการดำเนินงาน เรื่อง ระบบการคัดกรอง ส่งต่อ และดูแลรักษามะเร็งไปได้ทุกที่
ดร.ดวงตา กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานแลกเปลี่ยนความเห็นและรับทราบปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานบริการตามหลักเกณฑ์บริหารกองทุน กับหน่วยบริการในพื้นที่ เพื่อเสนอประกาศหลักเกณฑ์บริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพฯปี 2567 ซึ่งเตรียมประกาศใช้หลังจากพรบ.งบประมาณประจำปี 2567 ที่จะประกาศใช้ในเดือนเมษายน และสำหรับประกาศฯหลักเกณฑ์การบริหารกองทุนฯปี 2568 จะเสนอคณะกรรมการหลักฯในเดือนกรกฎาคม เพื่อเตรียมประกาศใช้สำหรับปีงบประมาณ 2568 ในเดือนตุลาคม 2567 ต่อไป
“การลงพื้นที่เป็นไปตามภารกิจหลัก เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและจัดทำข้อเสนอในการพัฒนากองทุนให้เกิดความมั่นคงและเป็นธรรม และติดตามประเมินผลการดำเนินงานบริหารจัดการกองทุน วิเคราะห์และเสนอแนวทางพัฒนาต่อเนื่อง”ดร.ดวงตา ตันโช ประธานอนุบริหารกองทุนฯ กล่าว
ด้าน นพ.พงษ์พจน์ ธีรานันตชัย ผอ.รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช กล่าวว่า นโยบาย Cancer anywhere ครบวงจร ของรพ.มหาราช มีการดูแลทั้งระบบ มีการเบิกค่าใช้จ่าย ได้รับงบประมาณเพียงพอ และประสบความสำเร็จ
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 3ปี (2564-ปัจจุบัน) มีผู้ป่วยมะเร็งนอกพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชได้รับการรักษาจากศูนย์รังสีรักษา ได้มากถึง 15 % และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะสะดวก รอคิวไม่เกิน 2 สัปดาห์ ในอนาคตจะมีเครื่อง PET CT เครื่องแรกของจังหวัด เป็นเครื่องฉายรังสีรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งได้รับความสะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลารอคอยในการรับบริการ และได้รับการรักษาเร็วขึ้น
ด้าน นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ บอร์ดสปสช. กล่าวว่า ต้องขอชื่นชม ที่นี่ มีอุปกรณ์เทียบเคียงโรงเรียนแพทย์ ให้บริการครบวงจรและเป็นที่พึ่งของประชาชน ในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงได้มาก
สำหรับผลการดําเนินงานตามนโยบายมะเร็งไปรับบริการที่ไหนก็ได้ทั่วประเทศ หรือ Cancer Anywhere โดยระบุว่า นโยบายนี้เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2564 มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการของประชาชน ลดระยะเวลารอคอย ซึ่ง สปสช. จะดูแลเรื่องการจ่ายชดเชยค่าบริการ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสถาบันมะเร็งแห่งชาติดูแลการออกแบบระบบบริการ
หลังจากมีนโยบายนี้ สธ. ได้เพิ่มศักยภาพหน่วยบริการ เช่น ที่ผ่านมามีข้อจำกัดของหน่วยรังสีรักษา แต่ สธ. ได้ลงทุนเพิ่มหน่วยรังสีรักษาจนปัจจุบันมีครบทุกเขตสุขภาพ รวม 42 หน่วย หรือจำนวนหน่วยเคมีบำบัด ในปี 2564 มี 143 หน่วย ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 183 หน่วยกระจายในทุกเขตสุขภาพ
จากผลจากการดำเนินนโยบายในช่วง 2 ปีนี้ จากฐานข้อมูล สปสช. พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้นทั้งในแง่จำนวนคน คือ 280,388 คน และจำนวนครั้งที่เข้ารับบริการ คือ 2,955,005 ครั้ง และจากการวิเคราะห์จำแนกตามพื้นที่ พบว่าในเขต 13 กทม. คนไข้เกือบครึ่งมาจากนอกเขต กล่าวคือ จากจำนวนผู้ป่วย 62,663 คนนั้น เป็นผู้ป่วยข้ามเขต 31,213 คน หรือ 49.81% ภายในจังหวัด 25,187 คนหรือ 40.19% และที่เหลือคือ 10,017 คน หรือ 15.99% เป็นการรับบริการที่หน่วยบริการประจำ ส่วนเขตอื่นๆ สามารถดูแลคนไข้ในจังหวัดหรือเขตของตัวเองได้ดี
ขณะเดียวกัน เมื่อจำแนกตามประเภทหน่วยบริการ เดิมสัดส่วนการให้บริการจะเป็นกลุ่มโรงเรียนแพทย์เป็นหลัก แต่หลังจากเริ่มนโยบาย มีการกระจายทรัพยากรต่างๆ พบว่าหน่วยบริการของ สธ. และศูนย์มะเร็งต่างๆ สามารถดูแลผู้ป่วยได้มากยิ่งขึ้น และเมื่อดูแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผลลัพธ์การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยโรคมะเร็ง โดยเปรียบเทียบก่อนและหลังมีโครงการ Cancer Anywhere พบว่าการเข้าถึงการผ่าตัด การรับยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษา ภายในระยะเวลาที่กำหนด ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถเข้าถึงการรักษาได้ดีขึ้นตามลำดับ ในปี 2564-2565 หลังที่มีโครงการฯ
ในช่วงบ่าย คณะฯ ลงพื้นที่ติดตามและรับฟังผลการดำเนินงานและปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน “การดูแลผู้ป่วยแบบไร้รอยต่อ ” โดยมีนพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผอ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สรุปภาพรวมเสนอคณะอนุกรรมการฯ นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานการดูแลผู้ป่วยจิตเวช จากนพ.ฉัตรชัย พิริยประกอบ ผอ.รพ. ท่าศาลา และคณะ เพื่อเสนอปัญหาและอุปสรรคในพื้นที่