ทพ.อรรถพร รองเลขาฯสปสช.พร้อมทีมแพทย์พยาบาล รพ.เจ้าพระยายมราช ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ(ปณด) ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและจัดส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
ทพ.อรรถพร รองเลขาฯสปสช.พร้อมทีมแพทย์พยาบาล รพ.เจ้าพระยายมราช ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยฯ(ปณด) ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและจัดส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วม อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรฐานทุกเดือน แม้มีอุปสรรค
เมื่อวันที่ 12 ต.ค. 2566 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช. พร้อมด้วยนายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น(ปณด) และนพ.กิตติพงษ์ อยู่สุวรรณ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสุพรรณบุรี นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผอ.สปสช.เขต 5 ราชบุรี นายธนากร มโนธรรม ปลัดอบต.องครักษ์ ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในเขตพื้นที่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในการส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ ให้ผู้ป่วยที่ล้างไตด้วยตนเองโดยผ่านช่องท้องได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะประสบภัยน้ำท่วมก็ตาม
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางในช่วงนี้ ได้จัดทีมลงเยี่ยมเพื่อต้องการติดตามให้เห็นว่า แม้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตผ่านช่องท้องเป็นประจำทุกวัน ยังล้างไตผ่านช่องท้องเป็นไปได้อย่างปกติ ตรวจสอบสาย การต่อน้ำยา ติดตามให้สุขศึกษา เรื่อง การจัดเก็บน้ำยาล้างไม่ให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อนในช่วงน้ำท่วม จัดเรียงนำมาใช้ได้อย่างสะดวก การจัดส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงหากมีกรณีฉุกเฉินอื่นๆ จะได้มีการจัดระบบความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยนายธนากร มโนธรรม ปลัดอบต.องครักษ์ และทีมได้วางแผนทีมช่วยเหลือประสานกับ รพ.สต.องครักษ์ กรณีเกิดเหตุต้องช่วยเหลือผู้ป่วยเร่งด่วนในพื้นที่ริมน้ำท่วมได้ทันที
ทั้งนี้จากข้อมูล ปี 2566 สปสช.ได้ให้การดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั่วประเทศ ทั้งหมด จำนวน 65,058 คน แบ่งเป็นผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 18,554 คน ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 46,391 คน และผู้ป่วยที่ได้รับปลูกถ่ายไตจำนวน 113 ราย
อย่างไรก็ตามในพื้นที่เขต 5 ราชบุรี มีหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนล้างไตทางหน้าท้อง (PD) จำนวน 27 หน่วย หน่วยบริการฟอกเลือด (HD) จำนวน 67 แห่ง มีเครื่องฟอกเลือด 1,103 เครื่อง หน่วยบริการปลูกถ่ายไต (KT) 1 แห่ง มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ต้องบำบัดทดแทนไตจำนวน 4,985 คน แยกเป็นประเภทการเข้ารับบริการ ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องจำนวน 1,167 คน ล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติจำนวน 219 คน ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจำนวน 3,822 คน และผู้ป่วยที่ได้รับปลูกถ่ายไตจำนวน 3 คน ซึ่งผู้ป่วยบางรายมีการรับบริการบำบัดทดแทนไตมากกว่า 1 บริการ
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อว่า จากการลงเยี่ยมผู้ป่วยที่ประสบอุทกภัยนั้นพบว่าส่วนใหญ่สะดวกสบายเพราะทางไปรษณีย์จะส่งอุปกรณ์การล้างให้ถึงที่ไม่ต้องเดินทางไปรับเองทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษสต่อเนื่อง หรือมีภาวะฉุกเฉิน สามารถขอเข้ารับการรักษาที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่อยู่ใกล้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และหน่วยบริการที่ให้บริการสามารถทำเรื่องเบิกค่าใช้จ่ายมาที่ สปสช.ได้ตามหลักเกณฑ์ รวมทั้ง สปสช.ในแต่ละเขตพื้นที่ได้ประสานงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ของแต่ละ อบต.และเทศบาล หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อประสานเรื่องการรับส่งผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่อง มีระบบการลงตรวจสอบ-สำรวจว่ามีจุดใดที่ต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ความเชื่อมั่นว่า แม้ว่าน้ำจะท่วมบ้าน ทาง สปสช. โรงพยาบาล และปณด จะพยายาม ส่งน้ำยาที่เป็นหัวใจสำคัญให้กับผู้ป่วยได้ใช้อย่างต่อเนื่อง เป็นปกติ.
“จากการลงเยี่ยมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังและจัดส่งน้ำยาล้างไต ยาและเวชภัณฑ์ให้กับผู้ป่วยในพื้นที่ประสบน้ำท่วมออย่างบ่านลุงสมจิต คำนวณศิลป์ อานุ76ปี อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี พร้อมทีมแพทย์พยาบาลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทยฯให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าเป็นการจัดส่งน้ำยาให้ผู้ป่วยได้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานทุกเดือน แม้มีอุปสรรคบ้างก็ตาม”ทพ.อรรถพร กล่าว
ด้าน นายพีระ อุดมกิจสกุล กรรมการผู้จัดการ ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น (ปณด) กล่าวว่า”โครงการจัดส่งน้ำยาล้างไต” เป็นอีกหนึ่งในบริการด้านขนส่งด้านยาและเวชภัณฑ์ ( healthcare solutions) ที่ทาง ปณด มีความภูมิใจในการมีส่วนร่วมต่อสังคม ช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้ป่วยสิทธิบัตรทองทั่วประเทศของ สปสช.ที่ร่วมดำเนินการกับองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทาง ปณด ได้พัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่ง มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยได้รับน้ำยาล้างไตครบถ้วน ตรงเวลา โดยจะมีการส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้านผู้ป่วย จำนวน 20 ลัง หรือ 120 ถุง สำหรับผู้ป่วย 1 ราย ซึ่งก็จะมีกำหนดส่ง 1 รอบ ต่อ 1 เดือน พร้อมทั้งจัดเรียงน้ำยาล้างไตตามวันหมดอายุแบบ FEFO (First Expire First Out )เพื่อสะดวกในการหยิบใช้
นอกจากนี้ ยังพัฒนาระบบการขนส่งยาและกระจายสินค้าเพื่อให้บริการตามมาตรฐานหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการจัดเก็บและขนส่งยา ทั้งระบบ GSP(Good Storage Practice) /GDP (Good Distribgution Practices) ที่เป็นระบบสากลทันสมัย ครบวงจร
ด้านนายแพทย์กิตติพงษ์ อยู่สุวรรณ รองนายแพทย์ สสจ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราชให้การดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ทั้งหมด 175 คน แยกประเภทการเข้ารับบริการ เป็นผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 32 คน ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้อง 144 คน ผู้ป่วยล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 35 คน
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ลุงสมจิต คำนวณศิลป์ อายุ 76 ปี ทางโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช ได้รับการส่งต่อรักษาผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ตั้งแต่ปี 2563 ได้ผ่าตัดวางสายเพื่อการล้างไตผ่านทางช่องท้อง สอนวิธีการล้างไตให้แก่ผู้ป่วยและญาติ พร้อมประสานงานให้มีการจัดส่งน้ำยากับทาง สปสช. ให้ทำเองที่บ้านในทุกวัน ส่วนการรักษาอื่นๆ ที่ผู้ป่วยรายนี้มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง และโรคเก๊าท์ ได้เข้ารับการรักษาตามปกติจาก รพ.สต.และรพ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี จากการติดตามอาการนี้ ผู้ป่วยมีการใช้ชีวิตได้ตามปกติ ล้างไตทุกวัน เข้ารับบริการตามที่หมอนัดเป็นระยะ
ด้านลุงสมจิต คำนวณศิลป์ อายุ76 ปี ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังฯ กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่มีผู้ใหญ่หน่วยงานรัฐมาเยี่ยมบ้าน ซึ่งตนป่วยเป็นโรคไตมาได้10ปีแล้ว แต่มาผ่าหน้าท้องล้างเองได้ประมาณ3-4ปี ช่วงแรกๆก็ลำบากเพราะทำไม่ค่อยเป็นในการเอาของเสียออกจากร่างกาย ปัจจุบันนี้ทำเองได้ไม่ต้องเดินทางไปล้างที่รพ.เสียค่าใข้จ่ายเยอะ ช่วงที่บ้านน้ำท่วมการออกไปก็ลำบาก แต่ปัจจุบันทางคุณหมอจะส่งน้ำยาล้างๆไตมาให้ที่บ้านเรียกว่าถึงที่เลย สะดวกมาก สิ่งสำคัญคนป่วยโรคนี้ต้องทำตามคำแนะนำหมออย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะเรื่องความสะอาดและทำให้ชีวิตมีความสุขเหมือนอย่างลุง อยากขอบคุณทุกหน่วยงาน