บอร์ดสปสช.ลงพื้นที่รับฟัง”หมอฟัน”รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช หลังเป็นพื้นที่นำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทย
บอร์ดสปสช.ลงพื้นที่รับฟัง”หมอฟัน”รพ.มหาราช นครศรีธรรมราช หลังเป็นพื้นที่นำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดให้ผู้สูงอายุ
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และนางพนิต มโนการ ผอ.สปสช.เขต 11 สุราษฎ์ธานี ลงพื้นที่เพื่อศึกษาดูงานและเสริมพลัง”โครงการนำร่องการใช้ผลิตภัณฑ์รากฟันเทียมในบัญชีนวัตกรรมไทยเพื่อการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปาก ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
โดยมี นพ.สุทธิพจน์ ชยณัฐพงศ์นพ.สสจ.นครศรีธรรมราช และทพญ.กิ่งเกศ อักษรวงศ์ หน.หน่วยศัลยกรรมช่องปาก และใบหน้า (แม็กซิลโลเฟเชียล) และทีมทันตแพทย์ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช นำเสนอภาพรวมของโครงการฯ
นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี ให้บริการใส่ฟันเทียมถอดได้แบบทั้งปากหรือเกือบทั้งปากสำหรับทุกสิทธิการรักษา โดยกำหนดระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี
คือ ปี 2566-2567
กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากบริการใส่ฟันเทียมที่กำหนดเป้าหมาย 72,000 ราย ให้กับคนไทยทุกสิทธิการรักษาแล้ว ยังเพิ่มเติมการให้บริการรากฟันเทียมกับผู้ที่มีปัญหาใส่ฟันเทียมถอดได้ที่ประสบปัญหาใส่แล้วรู้สึกหลวมหรือหลุด โดยเบื้องต้นจะให้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทองก่อน เพื่อจัดระบบบริการทั้งบุคลากรและเครื่องมือก่อนจะขยายผลต่อไปในอนาคต
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า รากฟันเทียมที่นำมาให้บริการ เป็นรุ่น PRK ที่พัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ และผลิตโดยบริษัท มหาสวัสดิ์เทคโนโลยี จำกัด เริ่มนำมาให้บริการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 โดยในปี 2566 นี้ มีกลุ่มเป้าหมายการให้บริการ 3,500 ราย และปี 2567 อีกจำนวน 3,700 ราย
“จะเห็นได้ว่าโครงการนี้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เราจึงมาลงพื้นที่ที่ โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช เพื่อรับฟังสรุปผลการดำเนินงานและเป็นการรับฟังข้อมูลปัญหาต่างๆที่เกิดจากการปฏิบัติงานจริง แล้วจะได้นำข้อมูลกลับไปพัฒนาระบบการบริการรากฟันเทียมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการดำเนินงานต่อไป”ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ โครงการ “ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติในหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่าง สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรมการแพทย์ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สำนักงานประกันสังคม และกรมบัญชีกลาง มีเป้าหมายเพื่อดูแลคนไทยทุกคนที่ไม่มีฟันบดเคี้ยวอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดี โดยให้บริการใส่ฟันเทียมถอดได้แบบทั้งปากหรือเกือบทั้งปากสำหรับทุกสิทธิการรักษา (สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ)