มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต นำเสนอผลวิจัย ชี้ เด็กเพศหลากหลายเสี่ยงซึมเศร้า-ฆ่าตัวตายสูงเกินกว่าครึ่ง
4 พฤศจิกายน 2565 – มูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) หรือ Save the Children (Thailand) Foundation ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดงาน ‘HEARTS MATTER: สุขภาพใจเยาวชนเพศหลากหลาย’ ขึ้น ณ สามย่าน โค-ออป เพื่อนำเสนอผลวิจัยเรื่องสุขภาพจิตในกลุ่มเยาวชนเพศหลากหลาย ที่ได้ร่วมจัดทำโดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รวมถึงได้มีจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ “อุปสรรคและการก้าวไปข้างหน้าเพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ” โดยมีผู้ร่วมเสวนาอย่าง หมอโอ๋ – พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น และคลินิกเพศหลากหลายในวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี อ.สกล โสภิตอาชาศักดิ์ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หนึ่งในทีมวิจัย ทิพย์ – พรทิพย์ รุ่งเรือง รองประธานเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา ตัวแทนเยาวชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่กล่าวถึงประเด็นเชิงอัตลักษณ์ทับซ้อนในบริบทชุมชนชาติพันธุ์ไร้สัญชาติ ที่ไม่มีพื้นที่ในการพูดคุยเรื่องของความหลากหลายทางเพศและสุขภาพจิต และ ดำเนินรายการโดย พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ภายในงาน คุณประเสริฐ ทีปะนาถ ผู้อำนวยการมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) ได้กล่าวต้อนรับผู้มาร่วมงาน พร้อมทั้งกล่าวถึงพันธกิจของมูลนิธิฯในประเด็นด้านความหลากหลายทางเพศว่า “เรามุ่งมั่นที่จะดำเนินงานเพื่อให้เด็กทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ได้เข้าถึงสิทธิทางการศึกษา และได้รับการปกป้องคุ้มครองจากความรุนแรงทุกรูปแบบ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่สำหรับเด็กทุกคน ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญในการจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางเพศที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเด็ก เพื่อให้เด็กทุกคน ไม่ว่าจะมีตัวตนทางเพศ รสนิยมทางเพศ การแสดงออก หรือเพศสรีระอย่างไร ก็ต้องสามารถเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียม”
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ผู้เป็นประธานในงาน กล่าวว่า “จากผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือน ที่ผ่านมา พบว่า กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19”
“เด็กและเยาวชนก็ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศยิ่งมีความทุกข์ใจมากขึ้น ทั้งจากการขาดแรงสนับสนุนอย่างกลุ่มเพื่อน การที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนที่บ้านได้ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อตนเอง เด็กและเยาวชนบางส่วนยังถูกกดดัน หรือถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือคนในชุมชน เพียงเพราะไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง”
งานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ที่นำเสนอในงาน ได้ศึกษาประเด็นดังกล่าวในกลุ่มเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15-24 ปีในประเทศไทย ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 3,094 คน และสัมภาษณ์ออนไลน์ 38 คน ผลวิจัยพบว่า 70-80% ของผู้เข้าร่วมมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเยาวชนกลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น 75.8% เคยถูกล้อเลียน 42.4% เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เกินครึ่งของผู้เข้าร่วมเคยคิดฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา
ดร. Timo Tapani Ojanen จากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนคณะวิจัยได้แสดงข้อกังวลว่า “ผลงานวิจัยเราแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการถูกกระทำความรุนแรง การถูกเลือกปฏิบัติ และการถูกบังคับให้พยายามเป็นเพศตามกรอบของสังคมล้วนมีผลเสียต่อสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศ นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่งรู้สึกว่าในปีที่ผ่านมาเขาพบปัญหาในระดับที่เขาควรไปรับบริการสุขภาพจิต แต่จากกลุ่มนี้ มีแค่ 1 ใน 5 ที่ได้ไปรับบริการ ซึ่งก็สะท้อนปัญหาต่างๆ ในการเข้าถึงบริการเหล่านี้ คิดว่าในภาพรวมแล้ว เราควรพยายามทั้งลดต้นเหตุของปัญหาสุขภาพจิตที่ได้กล่าวถึง และเพิ่มตัวเลือกในการรับบริการสุขภาพจิตที่เด็กและเยาวชนหลากหลายทางเพศเข้าถึงได้จริงและสะดวกใจในการใช้บริการ”
ทิพย์ – พรทิพย์ รุ่งเรือง รองประธานเครือข่ายเยาวชนชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนา ได้ส่งเสียงสะท้อนแทนเยาวชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า “การที่เราไม่ใช่หญิงหรือชายไม่ใช่โรค แต่เป็นความหลากหลายที่สมบูรณ์ ปัญหาสุขภาพจิตของพวกเราไม่ได้เกิดจากการมีความหลากหลายทางเพศ แต่เกิดจากแรงกดดันภายนอก และการไม่ได้รับการโอบกอดจากสังคมอย่างแท้จริง” ทิพย์ยังได้เน้นย้ำแนวทางการแก้ปัญหาสุขภาพจิตว่า “ความรักความอบอุ่นและการสนับสนุนที่เป็นมิตร สถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา อยากให้บรรจุความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนวิชาสุขศึกษา”
พญ.อัมพรได้กล่าวทิ้งท้ายว่า “การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตยังคงประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งหมายถึงการสร้างการยอมรับและการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือทุกที่ในสังคม รวมถึงการได้รับบริการทางสุขภาพจิตที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้”