รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ เตรียมความพร้อมของหน่วยบริการ รับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ในพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ ก่อนใช้จริง ต้นปี 2568
วันที่ 17 ธันวาคม 2567 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.พร้อมด้วยนางมลุลี แสนใจ ผอ.สปสช.เขต 10 อุบลฯ นพ.สุวิทย์ โรจนศักดิ์โสธร ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช.เขต 10 อุบลฯ ลงพื้นที่ติดตามหน่วยบริการนวัตกรรมคลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริ อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ และคลินิกนวัตกรรม ไอสมายล์ (หน่วยทันตกรรม) ที่เตรียมเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม ในโครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ระยะที่4 ในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ ที่จะคิ๊กออฟ ในวันที่ 1 มกราคม 2568
โดยมี นางตรูตรา มีธรรม ผู้ประกอบการ คลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริ และนายแพทย์พิเชฏฐ์ จงเจริญ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ แลกเปลี่ยนและ นำเยี่ยมชมในคลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริ พร้อมมอบสติกเกอร์ โลโก้ 30 บาท รักษาทุกที่เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ฟรี เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว
นางตรูตรา กล่าวว่า คลินิกได้เริ่มลงทะเบียนเข้าโครงการกับสปสช.ด้านการดูแลผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) มาตั้งแต่ปี 2564 มีนักกายภาพบำบัดจำนวน 8 คน เน้นการบริการในชุมชน ในผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค ได้แก่ ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยสมองได้รับบาดเจ็บ (Traumatic brine injury) ผู้ป่วยไขสันหลังได้รับบาดเจ็บได้รับการรักษาจนมีภาวะคงที่ (spinal cord injury) และผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจากภยันตรายชนิดไม่รุนแรง (Fragility fracture hip) โดยผู้ป่วยดังกล่าวจะได้รับการประสานส่งตัวมาจากโรงพยาบาลเพื่อให้คลินิกกายภาพบำบัดบุญศิริ ให้บริการกายภาพบำบัดที่บ้านผู้ป่วย ในระยะเวลา 6 เดือนและผู้ป่วยจะได้รับการนัดติดตามอาการที่โรงพยาบาล ให้บริการกายภาพบำบัดผู้ป่วยสิทธิบัตรทองในปี 2567 กว่า 236 รายแล้ว
พร้อมทั้งลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง(แตก) (Stroke) อายุ 52ปี ที่ได้รับการดูแลจนมีอาการดีขึ้น อีกทั้งผู้ป่วยยังมีการผ่าตัดใส่กระโหลกเทียมหลังจากที่คุณหมอเอาเลือดคลั่งในสมองออกด้วย
ขณะที่ในช่วงบ่าย คณะรองเลขาธิการสปสช. ลงเยี่ยมติดตามการเตรียมความพร้อม และการจัดบริการคลินิกนวัตกรรม ไอสมายล์ ซึ่งเป็นคลินิกทันตกรรมในพื้นที่จ.ศรีสะเกษ โดยมีทันตแพทย์เก่งนิติ ติละบาล ผู้บริหารไอสมายล์คลินิกทันตกรรม อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ พร้อมทีมงานให้การต้อนรับและเยี่ยมชมภายในคลินิกก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการนวัตกรรมด้านทันตกรรมกับสปสช.
ทันตแพทย์เก่งนิติ กล่าวว่า คลินิกไอสมายล์ เข้าร่วมลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการนวัตกรรม กับ สปสช. ใน ปี 2567 การเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการของคลินิกทันตกรรมเอกชน เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมาก ทำให้ประชาชนไม่ต้องไปรอคอยที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน และลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วย
ที่ผ่านมามีผู้มาใช้บริการสิทธิบัตรทองมาสอบถามประมาณ 10 คน ก่อนที่คลินิกจะเข้าร่วมโครงการฯหลังวันที่1ม.ค.68 มากขึ้นประชาชนมีความตื่นตัวกันมาก ซึ่งเรามรการเตรียมบุคลากรรองรับไว้แล้วซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ส่วนเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศเราก็เตรียมความพร้อมไว้เช่นกันเชื่อว่าไม่น่ามีปัญหา
ด้าน ทพ.อรรถพร กล่าวภายหลังเยี่ยมชมฯว่า การเข้าร่วมให้บริการของคลินิกกายภาพบำบัด เป็นการช่วยให้ผู้มีสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการได้สะดวกยิ่งขึ้นเพราะสามารถไปรับบริการที่คลินิกกายภาพบำบัดใกล้บ้านได้โดยไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล
ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปี 2567 เป็นต้นมา คลินิกกายภาพบำบัดช่วยให้ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะการฟื้นฟูจำนวนมาก สามารถกลับมามีสมรรถภาพได้เหมือนเดิมหรือใกล้เคียงปกติ เนื่องจากได้รับการดูแลจากนักกายภาพบำบัดอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงพื้นที่ไปดูแลที่บ้านและการเดินทางมารับบริการที่คลินิกเมื่ออาการดีขึ้น
รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ส่วนบริการทันตกรรมภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ ที่หน่วยบริการนวัตกรรมคลินิกทันตกรรมมี 5 รายการ โดยประชาชนเข้ารับบริการได้ 3 ครั้งต่อคนต่อปี ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนเข้ารับบริการทันตกรรมแล้ว 1.8 แสนคน หรือเฉลี่ยน 1.8 ครั้งต่อคน ในพื้นที่ 46 จังหวัดที่ผ่านมา
ทั้งนี้ รองเลขาธิการฯ สปสช.และรองนพ.สสจ.ศรีสะเกษ ได้ร่วมส่งมอบสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่ ศรีสะเกษ” เฟต4 ให้กับคลินิกนวัตกรรมทั้ง 2 แห่ง เพื่อให้กับประชาชนรับทราบข้อมูลและเมื่อเห็นสติ๊กเกอร์ โดยสัญลักษณ์ดังกล่าวอยู่หน้าคลินิกเอกชนใกล้บ้าน ผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถเข้ารับบริการได้ทันที เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว หรือใช้แอปพลิเคชันที่สามารถยืนยันตัวตนได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
“การมาลงพื้นที่ครั้งนี้ให้ประชาชนเข้ารับบริการได้ฟรี เพียงแค่ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว โดยคลินิกทั้งสองแห่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. และเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ บุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือเอาไว้แล้ว หวังช่วยให้ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองได้เข้าถึงบริการที่ง่ายขึ้น ไม่ต้องลางาน หรือไปรอคิวนานที่โรงพยาบาล“
ทพ.อรรถพร บอกว่า โครงการ30บาทรักษาทุกที่ทั้ง 3 เฟส ที่ดำเนินการไปแล้ว ได้รับความพึงพอใจจากประชาชนกว่าร้อยละ 90 ขณะที่หน่วยนวัตกรรม ก็มีความพึ่งพอใจเพิ่มขึ้น ถึงแม้ในช่วงแรกอาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ส่วนเฟส4 ในอีก 31 จังหวัดที่เหลือ รวมถึงจ.ศรีสะเกษที่กำจะคิกออฟในวันที่ 25 ธันวาคมนี้ และเริ่มให้บริการ 1 มกราคม 68 ระหว่างนี้ สปสช.ได้เร่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่ ทั้งการขึ้นทะเบียน กติกาการให้บริการ ระบบการเบิกจ่ายด้วย