
สปสช. จับมือ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้ประโยชน์จาก Big Data ศึกษารูปแบบการใช้บริการบัตรทอง ตลอดจนแนวทางการจัดทำงบประมาณกองทุนบนหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัย
สปสช.จับมือคณะบัญชีจุฬาฯ ศึกษาแนวทางจัดงบบัตรทองด้วยหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2568 ณ อาคารไชยยศสมบัติ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การดำเนินงาน การบริหารจัดการข้อมูล และการจัดเก็บข้อมูลการรับบริการของผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้ในการศึกษาและการวิจัย โดยมีฝนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสปสช.
รศ.ดร.ธาราทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรศ.ดร.อัษฎาพร ทรัพย์สมบูรณ์ หัวหน้าภาควิชาสถิติ บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า หน้าที่ของ สปสช. คือเป็นองค์กรที่บริหารจัดการการใช้งบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพแก่ผู้มีสิทธิบัตรทองกว่า 47.5 ล้านคนทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละปีมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองรับบริการมากกว่า 170 ล้านครั้ง ทำให้เกิดข้อมูลบริการจำนวนมากในลักษณะที่เป็น Big data
ดังนั้น หนึ่งในนโยบายที่ สปสช. ให้ความสำคัญ คือการขับเคลื่อนองค์กรโดยการใช้ประโยชน์จากข้อมูล หรือ Data-Driven Organization อาทิ การนำข้อมูลมาวิเคราะห์ในการจัดทำงบประมาณ การประเมินแนวโน้มและความต้องการของผู้ป่วย ตลอดจนกำหนดนโยบายที่ตรงกับสถานการณ์
เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การลงนามเอ็มโอยูระหว่าง สปสช. และ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจะเป็นความร่วมมือที่จะสร้างความแข็งแกร่งในนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์สูงสุด โดยจะมีการศึกษาข้อมูลการรับบริการของประชาชนตามเพื่อเป็นแนวทางในการปรับรูปแบบการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้สอดกับพฤติกรรมการรับบริการ และศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดทำงบประมาณของ สปสช. โดยพิจารณาถึงบริบทความเสี่ยงทางด้านโครงสร้างประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ มีการนำปัจจัยความเสี่ยงรายปัจเจกบุคคลตามหลักการประกันภัยเข้ามาประกอบพิจารณา เพื่อให้งบประมาณที่เสนอขอรับเหมาะสม ครอบคลุมกับขอบเขตการให้บริการของ สปสช. และมีความยั่งยืนในระยะยาว
ด้าน รศ.ดร.ธารทัศน์ โมกขมรรคกุล คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือศึกษาแนวทางการจัดทำงบประมาณบนหลักการคณิตศาสตร์ประกันภัยในครั้งนี้ ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จะสนับสนุนในด้านทฤษฎี และแนวคิดในการจัดทำแบบจำลองความเสี่ยง เพื่อใช้ในการหาอัตราเบี้ยประกันภัยที่สอดคล้องกับภาระค่าใช้จ่าย และเสนอแนะแบบจำลองงบประมาณของ สปสช. ที่เหมาะสมกับการให้บริการในปัจจุบันและสามารถรองรับบริบทที่เปลี่ยนไปในอนาคตได้
นอกจากนี้ สปสช. จะจัดเตรียมชุดข้อมูล (Data Set) โดยเป็นข้อมูลรายบุคคล ที่จำเป็นสำหรับการทำแบบจำลอง เช่น ข้อมูลพื้นฐานของผู้รับบริการ เช่น เพศ อายุ ที่อยู่ หรือสถานพยาบาลที่ลงทะเบียน ข้อมูลประวัติการเข้ารับบริการของผู้รับบริการ ข้อมูลการจ่ายค่าบริการที่สอดคล้องกับการเข้ารับบริการ ตลอดจนสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ให้กับมหาวิทยาลัย.