
สปสช. รับขึ้นทะเบียนศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ตามกฎหมายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
วันที่ 6 มีนาคม 2568 เภสัชกรคณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย นพ.นพรัตน์ พันธุเศรษฐ์ ผอ.สปสช เขต 8 อุดรธานี และ คณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม ที่ดำเนินการโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) โดยมีนายศักดา จันทครู ผู้อำนวยการศูนย์ฯและ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม , สาธารณสุขอำเภอท่าอุเทน , โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)โนนตาล และ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลโนนตาล พร้อมด้วยผู้นำชุมชน ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงาน การดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุ สถานการณ์ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการบริหารจัดการภายใต้กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ (กปท.)และการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน (Long term care) ของหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ทั้งนี้ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม ตั้งอยู่เลขที่ 101 ม.13 ถนนสายนครพนม-ท่าอุเทน กม.ที่ 20 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จ.นครพนม มีผู้สูงอายุที่ใช้บริการในศูนย์ฯ จำนวนทั้งสิ้น 100 ราย เป็นชาย 53 ราย หญิง 47 ราย ขึ้นทะเบียน เป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ตามกฎหมายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา
สำหรับจำนวนผู้สูงอายุแบ่งตามการประเมินการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ประเภท A (ผู้สูงอายุดูแลตัวเองได้ดี และสามารถช่วยเหลือตัวเองได้) จำนวน 39 ราย ประเภท B (ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้ปานกลางในกิจวัตรประจำวัน จำนวน 38 ราย และ ประเภท C (ผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (ติดเตียง/ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย) จำนวน 23 ราย ผู้สูงอายุใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป จำนวน 41 คน x2 ชิ้น เท่ากับ 82 ชิ้นต่อวัน แยกเป็น ผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง ใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 23 ราย และผู้สูงอายุกลุ่มที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เดินได้และใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูป 18 ราย การจัดบริการภายใต้ศูนย์ฯแบบเต็มเวลา จัดบริการทางสังคม บริการฉุกเฉิน ส่งเสริมและสนับสนุนองค์ความรู้และกิจกรรม การพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ การส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนและสังคมมีทัศนคติเชิงบวกกับผู้สูงอายุ บริการและสนับสนุนการศึกษาดูงาน การฝึกอบรมภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การศึกษาวิจัย และการจัดการความรู้ด้านผู้สูงอายุ การสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้ด้านอาชีพและภูมิปัญญาผู้สูงอายุ รวมถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำผ่านช่องทางต่างๆ
นายศักดา จันทครู ผู้อำนวยการศูนย์ฯกล่าวว่า ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม ได้รับขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ตามกฎหมายระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 3 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ซึ่งก่อนขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยมาตรา 3 ในระบบสปสช. ผู้สูงอายุที่ติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หรือได้น้อยได้รับการสนับสนุนงบประมาณกองทุนการดูแลระยะยาวสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน หรือ LTC ภายใต้การบริหารจัดการของอบต.โนนตาล อยู่จำนวน 23 ราย เป็นผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ (ติดเตียง/ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย)ซึ่งได้งบจากสปสช.เข้ามาสนับสนุน อาทิ ผ้าอ้อม อาหารทางสาย เป็นต้น
ทั้งนี้เมื่อครบรอบปีของการดูแลผู้ป่วยแต่ละรายที่ได้รับงบ LTC จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทางศูนย์ฯจะสามารถเบิกจ่ายค่าบริการสาธารณสุขได้โดยตรงจากสปสช. ตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข สำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน พ.ศ. 2567
อย่างไรก็ตาม ในการให้บริการศูนย์ฯ ที่นี่ใช้แนวคิดการสร้างสุขจนสุดปลายทาง “อยู่ดีเพื่อตายดี” การให้บริการประกอบด้วย บริการด้านปัจจัย 4 บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ บริการด้านสังคมสงเคราะห์ บริการด้านศาสนากิจ บริการด้านนันทนาการ และ จัดการศพให้เป็นตามประเพณี ครอบคลุม 4 มิติ (มิติสุขภาพ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสภาพแวดล้อมนวัตกรรม/เทคโนโลยี) เพื่อวางแผนการดูแลสุขภาวะผู้สูงอายุ บนพื้นฐานแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนการเคารพและเห็นคุณค่าในความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
นอกจากนี้ ยังจัดทำโครงการสืบสานศาสตร์พระราชา โคก หนองนา พัฒนาคุณภาพชีวิต โดยบูรณาการความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครพนม ปรับปรุงพื้นที่ของหน่วยงานภายใต้โครงการ โคก หนอง นาโมเดล โดยทำกิจกรรมด้านอาชีวะบำบัดใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ด้านการทำเกษตรอินทรีย์ ดูแลพืชผักสวนครัว แปลงไม้ดอกไม้ประดับ เลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกันส่งผลให้เห็นคุณค่าของตนเองและเพื่อนผู้สูงอายุ มีสุขภาพแข็งแรง มีพืชผัก ผลไม้ที่สะอาด ปลอดภัยไว้สำหรับการบริโภค
ด้านเภสัชกรคณิตศักดิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบ “ข้อเสนอการกําหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและระยะท้าย เป็นสถานบริการสาธารณสุขอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545” และจากมติบอร์ด สปสช. ข้างต้นนี้ สปสช. จึงได้ออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง กำหนดสถานบริการสาธารณสุขอื่นเป็นสถานบริการตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับสาระสำคัญ คือการกำหนดให้องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำงานด้านการดูแลผู้ป่วยติดเตียง บริการดูแลแบบประคับประคองและผู้ป่วยระยะท้าย ทั้งที่เป็นนิติบุคคลและไม่เป็นนิติบุคคล ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล สามารถสมัครขึ้นทะเบียนเป็น “หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล” หรือ หน่วยชีวาภิบาล ที่ถูกต้องตามกฎหมายและสามารถเบิกจ่ายค่าบริการจาก สปสช. ได้ หน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล อาทิ หน่วยบริการที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยติดเตียง การดูแลแบบประคับประคองแก่ผู้ป่วยระยะท้าย องค์กรศาสนา เช่น วัด โบสถ์คริสต์ มัสยิด หรือองค์กรเอกชนที่ดำเนินการในด้านนี้ เช่น สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ บ้านพักผู้สูงอายุ เป็นต้น
ผู้ช่วยเลขาธิการฯ กล่าวต่อว่า สำหรับหน่วยงานหรือองค์กรที่จะสมัครเข้าเป็นหน่วยบริการฯ ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 จะต้องมีคุณสมบัติ โครงสร้าง และมาตรฐานบริการตามที่กำหนดและได้รับการรับรองจากกรมอนามัยหรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง มีบุคลากรที่มีประสบการณ์และได้รับรองสมรรถนะจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือ มีบุคลากรที่ผ่านการอบรมหลักสูตรที่สอดคล้องกับบริการหรือกิจกรรมที่จัดบริการจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหรือองค์กรนิติบุคคลที่สปสช.กำหนด
“ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุจังหวัดนครพนม เมื่อขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านสถานชีวาภิบาล ตามมาตรา 3 จะสามารถเบิกจ่ายค่าบริการค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงในชุมชน เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุที่เข้าเกณฑ์ จำนวนรายละ 10,442 บาทต่อปี โดยมีเกณฑ์การสนับสนุนดังนี้ (1) บุคคลที่ได้รับการประเมินระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวันตามดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL index) เท่ากับหรือน้อยกว่าสิบเอ็ดคะแนน หรือ (2) ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการประเมินระดับผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Performance Scale ; PPS) เท่ากับหรือน้อยกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ หรือ (3) ผู้ป่วยสมองเสื่อมตามการประเมินระยะของภาวะสมองเสื่อม ดังต่อไปนี้ (ก) Functional Assessment Staging Test (FAST) ระยะปานกลาง ระยะรุนแรงป่าน กลาง หรือระยะรุนแรง หรือ (ข) Global Deterioration Scale (GDS) ระยะที่ 5 ระยะที่ 6 หรือระยะที่ 7 ” ผู้ช่วยเลขาธิการฯกล่าว
ในช่วงบ่ายคณะฯ ลงเยี่ยมบ้านนายกำชัย สุวรรณมาโจ อายุ 85 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลจากงบกองทุน LTC ของอบตโนนตาล อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที 13 ตำบลโนนตาล อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็น ผู้สูงอายุแขนขาขวาอ่อนแรง ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย แขนยกได้ ขาติดท่างอทั้ง 2 ข้าง เดินไม่ได้มา 6 ปี ยังไม่มีสวัดิการผู้พิการ รับยา warfarin จาก รพ.นครพนม (พยาบาลจาก รพ.ท่าอุเทน ญาติ) มีภรรยา ดูแล และมีอาการหมอนรองกระดูกเสื่อม พร้อมกับอาศัยกับบุตร 2 คน คนแรกทำงานที่ ปศุสัตว์ อำเภอท่าอุเทน คนที่ 2 รับจ้างร้านเหล็ก