สปสช. ร่วมเปิดประชุม National UHC Conference 2023 “ทบทวนอดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต” เพื่อสรุปความก้าวหน้าและจุดมุ่งหมายต่อไปของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย
รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมระดับชาติ ด้านหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย พ.ศ 2566 ทบทวน อดีตและแถลงการณ์สู่อนาคต (National UHC Conference 2023: Review the past and declare the future ) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ โดยมี นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เข้าร่วมพิธีเปิดและร่วมอภิปรายในหัวข้อเกี่ยวกับความสำเร็จที่ผ่านมาของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย
นพ.จเด็จ ให้สัมภาษณ์ว่า นโยบายหลักประกันสุขภาพของคนไทยมีความท้าทายจากโรคภัยใหม่ ๆ หรือความเปลี่ยนแปลงของโลกเข้ามาอยู่ตลอด ซึ่งอาจจะมีหลายคนกังวลว่า งบประมาณในอนาคตจะเพียงพอหรือไม่ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ จะเข้ามาจะมีผลดีผลเสียอย่างไร ซึ่งเราจะต้องเตรียมความพร้อมไว้รองรับ ยกตัวอย่างนโยบายยกระดับบัตรทองที่ต้องการอำนวยสะดวกให้กับพี่น้องประชาชน สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบบริการประชาชน เช่น การให้บริการใกล้บ้าน คลินิกชุมชนอบอุ่น ร้านขายยา เพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ แม้แต่ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการเองก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางเช่นกัน ซึ่งเราต้องการช่วยลดภาระในจุดนี้
“เชื่อว่าถ้ามีเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีประสิทธิภาพเข้ามาช่วย สร้างความเข้มแข็งให้กับหน่วยบริการปฐมภูมิ การป้องกันโรค และการสร้างเสริมสุขภาพ ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศหรือปัจจัยอื่นที่อาจจะทำให้มีการเจ็บป่วยมากขึ้น ก็จะสามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึงได้” เลขาธิการสปสช.กล่าว
นอกจากนี้ นพ.จเด็จกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการนำเอไอมาใช้งาน เดิมเราใช้ระบบคอมพิวเตอร์มาทำงานอยู่แล้ว และยิ่งถ้ามีเอไอมาช่วยแน่นอนว่าเราคงไม่ปฎิเสธ แต่ต้องมีมาตรฐานหรือมีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยดูแล ส่วนเรื่องการเบิกจ่ายเงินกับการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่ง สปสช.ได้เริ่มมีการปรับเปลี่ยนระบบเพื่อลดขั้นตอนการเปิด-ปิดสิทธิแล้ว ทำให้จุดบริการต่าง ๆ เบิกจ่ายได้เร็วขึ้น ต่อไปถ้ามีเทคโนโลยีที่มีความฉลาดมากขึ้น ก็จะยิ่งลดขั้นตอนและลดค่าใช้จ่ายได้อีก อีกหนึ่งตัวอย่างเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้งาน ก็คือการตรวจคัดกรองโรคด้วย “การตรวจยีน” หรือ “การตรวจรหัสพันธุกรรม” ซึ่งเป็นการตรวจสุขภาพเชิงรุกที่มีความแม่นยำสูง เพื่อค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรคที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ ทั้งยังใช้ระยะเวลาตรวจไม่นาน และตรวจครั้งเดียวจบ เชื่อว่าเมื่อเวลาผ่านไป เทคโนโลยีเหล่านี้จะยิ่งราคาถูกลงและเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ดียิ่งขึ้น สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดยใช้บัตรประชาชนใบเดียวใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส และร้อยเอ็ด สปสช.เตรียมความพร้อมรองรับเรื่องนี้ 2 ส่วน คือ 1.ให้หน่วยบริการเบิกเงินได้เร็วขึ้น โดยตั้งเป้า 3 วันหลังได้รับข้อมูลจากหน่วยบริการ และ 2. การขยายหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น
นพ.จเด็จ ระบุว่า ในบางจุดที่ไม่ได้มีบริการครอบคลุมทุกด้าน ก็จะต้องมีการส่งต่อไปยังจุดที่มีความพร้อมในด้านนั้น ๆ รวมถึงอาจมีผู้รับบริการบางส่วนที่ใช้ช่องโหว่รับบริการซ้ำซ้อนหลายจุด ซึ่งจะต้องมีการเชื่อมข้อมูลต่าง ๆ พัฒนาระบบหลังบ้านให้มีความรวดเร็วและตรวจสอบได้ ทั้งจากหน่วยงานหลักคือกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานย่อยที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งยอมรับว่ามีความยากแต่ต้องพยายามทำให้ได้ ระหว่างนี้หากประชาชนได้รับบริการไม่ทั่วถึง หรือต้องการปรึกษาด้านบริการสุขภาพ สามารถโทร.สายด่วน 1330 ได้ตลอด ขณะนี้เรามีพยาบาลที่เกษียณแล้วเข้ามาช่วยบริการให้คำแนะนำกว่า 1,000 คน กลุ่มคนเหล่านี้จะให้คำแนะนำเมื่อมีปัญหาหรือโรคต่างๆได้