สปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ รพ.สิเกา จ.ตรัง
สปสช.ลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ รพ.สิเกา จ.ตรัง เด่นด้านการจัดการความขัดแย้งและการเจรจาไกล่เกลี่ยบริหาร จัดการระบบการเข้าถึงสิทธิ คุ้มครองสิทธิ และสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับ
รองเลขาธิการ สปสช. ลงพื้นที่ จ.ตรัง เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพโรงพยาบาลสิเกา ชี้มีความโดดเด่นด้านการจัดการความขัดแย้งและการเจรจาไกล่เกลี่ยในศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพแบบยั่งยืน สามารถบริหารจัดการระบบการเข้าถึงสิทธิ คุ้มครองสิทธิ และสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับ
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล ผู้อำนวยการ สปสช.เขต12 สงขลา พร้อมคณะ ลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพโรงพยาบาลสิเกา อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพที่มีการดำเนินงานที่โดดเด่นในด้านการสนับสนุนให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงสิทธิ การคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนเป็นช่องทางรับฟังเสียงสะท้อนจากผู้บริการและนำเสนอข้อมูลเพื่อพัฒนาคุณภาพบริการให้สามารถตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนได้เป็นอย่างดี โดยมี นพ.วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร รองนพ.สาธารณสุขจังหวัดตรัง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิเกา และนพ.ชาญณรงค์ ขจรสุวรรณ นายแพทย์ปฏิบัติการสรุปภาพรวมของศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ บรรยายสรุปและอลกเปลี่ยนการดำเนินงานของศูนย์ฯ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ เป็นกลไกที่จัดตั้งขึ้นภายใต้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิ หรือเมื่อประชาชนถูกละเมิดสิทธิการรักษาพยาบาล สามารถร้องเรียนเข้ามา เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนาระบบการบริการให้ได้มาตราฐานการรักษาพยาบาล ซึ่งที่โรงพยาบาลสิเกา มีแนวคิดการจัดการความขัดแย้งและการเจรจาไกล่เกลี่ยในศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพแบบยั่งยืน สามารถบริหารจัดการระบบการเข้าถึงสิทธิ คุ้มครองสิทธิ และสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนควรได้รับ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รวมทั้งครอบคลุมการเยียวยาครอบครัวจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนอีกด้วย
ทพ.อรรถพรกล่าวว่า จำนวนเรื่องร้องเรียนในพื้นที่ สปสช.เขต 12 สงขลา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความไม่เข้าใจกันที่มีสาเหตุจากความคลาดเคลื่อนของข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลง ความไม่เข้าใจกันระหว่างแพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการกับผู้ป่วยหรือญาติ จากการสื่อสารในภาษาทางการแพทย์ซึ่งยากที่จะเข้าใจ จากภาระงานที่เพิ่มขึ้นจนทำให้เจ้าหน้าที่เหนื่อยล้าไม่มีเวลาอธิบาย ประกอบกับความคาดหวังของผู้รับบริการ ซึ่งสถานที่ที่เกิดเหตุส่วนมากก็คือในหน่วยบริการนั่นเอง ดังนั้นศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพบริการ
อย่างไรก็ตามสปสช.ได้จ่ายเงินเยียวยาวให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่1 มี.ค.64 ถึงปัจจุบัน จำนวน 20,998 คน คิดเป็น82%ของผู้ที่ได้รับผลกระทบการฉีดวัคซีนโควิด-19 รวมเป็นเงิน 2,062 ล้านบาท
ด้านนพ.วีระพันธ์ กล่าวว่า แนวทางที่ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพใช้เป็นหลักในการลดความขัดแย้ง คือ การไกล่เกลี่ยโดยใช้ข้อเท็จจริงและหาทางออกของปัญหานั้นได้อย่างเข้าใจ ได้ประโยชน์ร่วมกันทั้ง 2 ฝ่าย แต่หากบางกรณีที่ข้อมูลข้อเท็จจริงยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประชาชนยังมีสิทธิที่จะดำเนินการในช่องทางตามกฎหมายต่อไปได้ ขณะเดียวกัน ยังสนับสนุนการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้สำหรับผู้ปฏิบัติงาน โดยยึดหลักการในเรื่องขอบเขตหน้าที่ตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
ผู้อำนวยการ สปสช.เขต12 สงขลา กล่าวต่อว่า สปสช. เขต 12 สงขลา สนับสนุนการพัฒนาศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริการจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน จากการติดตามผลการดำเนินงาน พบว่าโครงการดังกล่าวทำให้โรงพยาบาลมีความตื่นตัว ปรับปรุงสถานที่ จัดระบบให้บริการข้อมูล คำแนะนำ มีการพัฒนาระบบงานรับเรื่องร้องเรียนฯ โดย Integrate เข้ากับระบบพัฒนาคุณภาพบริการของโรงพยาบาล ทำให้เกิดศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพ เป็นทั้ง Customer Service และ Consumer Protection ของโรงพยาบาล สามารถให้บริการข้อมูล คำแนะนำปรึกษา จนเกิดการคลี่คลายปัญหาให้แก่ประชาชนได้ทุกสิทธิ แก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว และลดความรุนแรงของปัญหาลงได้ ส่งผลภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลดีขึ้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2553-2563 มีโรงพยาบาลในพื้นที่ สปสช.เขต 12 สงขลา ผ่านการพิจารณาคัดเลือกเป็นศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพและการบริการจัดการความขัดแย้งในหน่วยบริการดีเด่นระดับประเทศถึง 14 แห่ง.
ด้านนพ.วัชรนันท์ ถิ่นนัยธร รองนพ.สาธารณสุขจังหวัดตรัง และผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิเกา กล่าวว่า ตั้งแต่ปี2565 รพ.มีบทบาทหลักโดยเฉพาะเรื่องผู้มารับบริการและได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่มีไข้ถึงเสียชีวิต มีประมาณ 10 ราย ที่รพ.ทราบเรื่องและพาทีมเจ้าหน้าที่เข้าไปพูดคุยกับญาติผู้มารับบริการที่ได้รับผลกระทบ
โดยดูประวัติย้อนหลังประมาณ 1เดือน รวมทั้งจะมีการสอบถามรายละเอียดช่วยเขียนคำร้องประมาณ 1-2วันว่าผู้ที่มารับบริการและได้รับผลกระทบเข้าหลักเกณฑ์ในการเบิกจ่ายเงินเยียวยาวตามหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ซึ่งจะรวบรวมข้อมูลไม่เกิน2สัปดาห์แล้วส่งให้ทางจังหวัดและสปสช.และประสบความสำเร็จถึงจำนวน 9 ราย ทั้งนี้เพื่อต้องการสร้างความประทับใจให้กับผู้มารับบริการเป็นหลักสำคัญ อีกทั้งยังช่วยลดเรื่องความขัดแย้งการร้องเรียนของผู้มารับบริการลดลงอีกด้วยโดยรพ.ต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเจ้าหน้าที่รพ.กับชุมชน
ด้าน น.ส. ธนัชชา หมื่นท่อง หลานสาวของนางสาวประจีน หมื่นท่อง อายุ 45 ปี ซึ่งเป็นน้าสาวและได้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีนโควิด-19 เล่าว่า น้าส่วมารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่3 แล้วเสียชีวิต หลังจากเสียชีวิตประมาณ 4-5 วันทางรพ.โทรประสานให้ญาติมาเขียนคำรฝร้องขอเงินเยียวยา ซึ่งใช้เวลาประมาณ2สัปดาห์ได้รับเงินเยียวยา จำนวน 4แสนบาท ตอนแรกไม่คิดว่าจะได้ ซึ่งทางรพ.เป็นคนทำให้หมด ตั้งแต่เขียนคำร้องส่งเรื่องไปจังหวัดและสปสช.จนได้รับการอนุมัติ ซึ่งถื่อเป็นบริการที่ดีมากใกล้ชิดประชาชน