สปสช. ลงพื้นที่ จ.ลำปาง เยี่ยมชมผลงานเชิงรุก “Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” ช่วง 2 เดือน ให้บริการฉีดบรรลุเป้าหมาย ร่วม 1.3 หมื่นคน ช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566 – ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)พร้อม ด้วย นางสาวจินตนา สันถวเมตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มจังหวัด สปสช.เขต1เชียงใหม่ เยี่ยมชม “โครงการให้บริการวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก” ตามนโยบายมะเร็งครบวงจร ขับเคลื่อน “Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” ที่รพ.มะเร็งลำปาง กับการขับเคลื่อนนโยบายมะเร็งครบวงจรฯ โดยมี นพ.นพรัตน์ วัชรขจรกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง และ นพ.วีรวัต อุครานันท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งลำปาง ร่วมให้ข้อมูลการดำเนินงานโครงการฯ
ทพ.อรรถพร กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากจังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดำเนินการที่เป็นไปเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่น และความร่วมมือของบุคลากรตลอดจนเครือข่ายบริการในจังหวัด ช่วยเป็นกำลังเสริมให้ระบบสุขภาพของประเทศ จากที่สปสช. สนับสนุนการดำเนินนโยบาย มะเร็งครบวงจร ของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยในส่วนของโครงการ “Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE” ที่เป็นการฉีดวัคซีนให้กับหญิงไทยกลุ่มเป้าหมาย อายุ 11-20 ปีนั้น ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บริการวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือ วัคซีนเอชพีวี (HPV Vaccine) เป็นสิทธิประโยชน์บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า สปสช. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามโครงการ Quick win 100 วัน ในปีงบประมาณ 2567 สปสช. ได้มีการจัดเตรียมวัคซีนเอชพีวี จำนวน 1.9 ล้านเข็ม และได้กระจายไปยังหน่วยบริการต่างๆ ทั้ง 13 เขตสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการบริการให้เป็นไปตามเป้าหมาย ตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2566 มีหลายพื้นที่ได้ดำเนินการเร่งให้บริการวัคซีนเอชพีวีแล้ว โดยโรงพยาบาลหลายแห่งได้จัดบริการเชิงรุก ซึ่งจังหวัดลำปางเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ดำเนินการที่เป็นไปเป้าหมายที่ตั้งไว้แล้ว อีกทั้ง ปัจจุบันการตรวจมะเร็งปากมดลูกตรวจง่ายมาก โดยสามารถตรวจได้เองสำหรับสตรีกลุ่มเป้าหมายที่มีความเสี่ยง อายุตั้งแต่ 30-60 ปี โดยสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตัวเองโดยอาจจะไปที่ร้านขายยาเข้าร่วมโครงการ การตรวจเหมือนคล้ายเอทีเค โควิด เมื่อเก็บสิ่งส่งตรวจแล้วก็สามารถนำเข้าแล็ปเพื่อตรวจ ดูดีเอ็นเอว่ามีเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ และยังมีความแม่นยำอีกด้วย
ด้าน นพ.นพรัตน์ กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศนโยบาย Quick WIN 100 วัน HPV VACCINE ทาง สสจ.ลำปาง ได้ร่วมกับ รพ.ลำปาง และหน่วยบริการเครือข่าย ร่วมจัดทำแผนในการให้บริการฉีดวัคซีนเอชพีวีกับกลุ่มเป้าหมายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจากข้อมูลในระบบ MOPH Claim จังหวัดลำปางได้ให้บริการวัคซีนเอชพีวีแล้วจำนวน 12,954 คนแล้ว หรือคิดเป็นร้อยละ 115.38 โดยเป็นจังหวัดลำดับที่ 3 ในเขตสุขภาพที่ 1 ที่มีการให้บริการวัคซีนเอชพีวีจำนวนมาก และยังเหลือเป้าหมายอีก 1,615 คน ซึ่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จทั้งโครงการภายในวันที่ 15 มกราคม 2567 ทำให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง (สสจ.ลำปาง) ได้รับโล่เกียรติคุณฉีดวัคซีนเอชพีวีระดับยอดเยี่ยมจาก รมว.สาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา ในงานเชิดชูเกียรติและของภาคีเครือข่าย “1-M doses HPV Vaccine : together We Succeed”
สำหรับข้อมูลรายงานการฉีดวัคซีนเอชพีวีในอำเภอต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดลำปางมีดังนี้ 1.อ.เมืองลำปาง จำนวน 5,723 คน 2.แม่เมาะ จำนวน 569 คน 3.เกาะคา จำนวน 416 คน 4.เสริมงาม จำนวน 556 ราย 5. งาว จำนวน 730 คน 6.แจ้ห่ม จำนวน 529 คน 7.วังเหนือ จำนวน 945 คน 8.เถิน 764 คน 9.แม่พริก 295 คน 10.แม่ทะ จำนวน 601 คน 11.สบปราบ จำนวน 475 คน 12.ห้างฉัตร จำนวน 825 คน และ 13.เมืองปาน จำนวน 526 คน
นพ.วีรวัต ผอ.รพ.มะเร็งลำปาง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่รพ.มะเร็งลำปางอยากนำเสนอคือเป็นความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข , สปสช. ,ในการกำหนดนโยบายพร้อมการสนับสนุนวัคซีนฯรวมถึงการขับเคลื่อนและการจ่ายค่าชดเชยต่างๆ ในส่วนของพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจาก สาธารณสุขจังหวัดลำปาง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ในการขับเคลื่อนสุขภาพที่ดีของจ.ลำปาง เมื่อมีการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้วหรือการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไปด้วย เพื่อให้เราได้สามารถดูแลสุขภาพของคนไทยได้อย่างครบวงจร ทุกช่วงวัยของชีวิต
มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันดับต้นที่พบมากของผู้หญิงไทย สาเหตุเกิดจากการได้รับเชื้อเอชพีวี (Human Papilloma virus ; HPV) ที่ติดต่อจากเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดมะเร็งช่องคลอด มะเร็งปากช่องคลอด และหูดอวัยวะเพศด้วย ดังนั้นการป้องกันด้วยการฉีดวัคซีนเอชพีวีให้ครบถ้วนตั้งแต่อายุยังน้อยจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้ โดยข้อดีของวัคซีนเอชพีวีคือมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันไวรัสเอชพีวี มีผลข้างเคียงน้อย โดยประสิทธิภาพของวัคซีนเอชพีวีสามารถป้องกันเชื้อได้นานเกือบ 10 ปี ในส่วนของจังหวัดลำปางนี้ รพ.ลำปาง และโรงพยาบาลเครือข่ายในพื้นที่ นอกจากการให้บริการที่หน่วยบริการแล้ว ยังได้จัดทีมให้บริการเชิงรุกเพื่อฉีดให้กับเด็กนักเรียนหญิงและนักศึกษาหญิงในสถานศึกษา อาทิ โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีนครลำปาง มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง โรงเรียนปงสนุก เป็นต้น
ในช่วงบ่ายได้เดินทางไปยังมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เพื่อเยี่ยมชมการฉีดวัคซีนให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยกลุ่มเป้าหมาย ตามนดยบายการให้บริวการเชิงรุกที่ช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างรวดเร็ว
น.ส.จันทวรรณ ปัญโญเหียง อายุ 18 ปี เรียนอยู่คณะพยาบาลศสตร์ ปี1 มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง เล่าถึงความรู้สึกที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก เข็มแรกว่า รู้สึกเจ็บนิดหน่อยหลังจากฉีดแต่ก็แป้บเดียวก็หาย ตอนแรกรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะรู้ว่าการเป็นมะเร็งปากมดลูกมันน่ากลัวมาก การได้รับวัคซีนไปครั้งนี้ก็รู้สึกดีอยากให้มีโครงการแบบนี้มากๆ เพราะเป็นการช่วยให้สุขภาพของหญิงไทยดี อีกทั้งถ้าพบต้นๆก็จะได้รักษาง่าย การได้รับวัคซีนตอนอายุน้อยๆจะมีประสิทธิภาพดีกว่า การรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกเข็มที่ 2 ต้องมีระยะห่างกัน 6 เดือน
ด้านน.ส.ชนิภรณ์ ลอยมาปิง อายุ 20 ปี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก เล่าถึงความรู้สึกว่า ก่อนหน้าที่จะมารับวัคซีนครั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยประชาสัมพันธ์เบื้องต้นแล้ว และเห็นว่าเป็นผลดีกับตัวเองจึงได้ลงทะเบียนมาฉีด อีกทั้งยังสะดวกสบายไม่ต้องไปหาหมอที่รพ.แต่มาบริการถึงมหาวิทาลัยฯ การฉีดก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้วย การรับวัคซีนนี้ยังจะช่วยครอบคลุมไม่ให้หญิงไทยเป็นมะเร็งปากมดลูกด้วย แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลของตัวเอง แนะนำว่าอยากให้หญิงไทยทุกคนได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก