สปสช. หารือร่วม รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กำหนดทิศทางจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย พร้อมเดินหน้าจัดหาหน่วยบริการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
สปสช.เดินหน้าจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สปสช.ประชุมแลกเปลี่ยนและเตรียมจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ
วันนี้(1พฤศจิกายน 2567) นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการควบคุม คุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. พญ.ปฐมพร ศิรประภาศิริ ผู้ตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสปสช. นพ.จักกริช โง้วศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ สปสช. ประชุมแลกเปลี่ยนและร่วมหารือทิศทางการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยมี ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัย มธ. ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร รพ. ธรรมศาสตร์ รศ. นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาตร์ นพ.กวิน พรหมสมบัติ ผู้แทนผู้อำนวยการศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เป็นปัญหาสำคัญของไทยและเป็นนโยบายของรัฐบาล ที่ผ่านมา สปสช. ได้ดำเนินการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ในวัดทั่วประเทศ แต่ในรูปแบบของสถานพยาบาลหลัก ยังไม่ครอบคลุม ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ถือเป็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแห่งแรกของไทย ที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาล สังกัดมหาวิทยาลัย ให้บริการมากว่า 10 ปี มีระบบการดูแลที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาล มีแพทย์ พยาบาลให้บริการโดยตรง และมีการจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
“ที่นี่จึงเป็นจุดตั้งต้นสำคัญ หากมีการกำหนดทิศทาง และวางยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ก็จะเป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้อีกรูปแบบหนึ่ง” เลขาธิการสปสช.กล่าว
ด้าน รศ.นพ.ดิลก ภิยโยทัย ผอ.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ศูนย์ธรรมศาสตร์ ธรรมรักษ์ ของโรงเรียนแพทย์ รพ.ธรรมศสสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้การรักษาทางการแพทย์ควบคู่กับดูแลสภาพจิตใจ โดยผู้ป่วยจะได้รับการประเมินจากแพทย์ และความยินยอมจากครอบครัว ในการพิจารณาร่วมกันภายใต้การดูแลของแพทย์ มีเตียงดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย 30 เตียง ให้บริการทุกสิทธิการรักษา โดยมีอัตราครองเตียงผู้ป่วยแบบประคับประคองสูงขึ้นทุกปี เฉพาะปี67 อยู่ที่ร้อยละ 42.22 ประมาณ 146 คน ส่วนใหญ่เป็นสิทธิข้าราชการ รองลงมาคือ ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และชำระเงินเอง
“ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ดำเนินงานภายใต้เงินบริจาค ต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรเยอะ ถ้าเกิดความร่วมมือกับ สปสช. ก็จะทำให้การดำเนินงานเกิดความคล่องตัว ยั่งยืน และเป็นประโยชน์กับประชาชนมากขึ้น”นพ.ดิลก กล่าว
ภานหลังหารือร่วมกัน เยี่ยมชมห้องพักฟื้นในศูนย์ฯ ดังกล่าว