
สปสช. เยี่ยมชม “บ้านรื่นสุข” ศูนย์บริการคนพิการของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดหรือการมองเห็น นครนายก ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้าน O&M ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
วันที่ 21 มีนาคม 2568 รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นพ.สาธิต ทิมขำ ผู้อำนวยการเขต สปสช.เขต 4 สระบุรี ลงพื้นที่เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์บริการคนพิการของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อน โดยมี นางสาววัลลภา ศาลารักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพผู้พิการการมองเห็นและพิการซ้ำซ้อน นครนายก (บ้านรื่นสุข) ให้การต้อนรับพร้อมบรรยายสรุปการดำเนินงานและพาเยี่ยมชมศูนย์ฯ
รศ.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สปสช.ร่วมกับแผนงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย ให้สถาบันคนตาบอดเพื่อการวิจัยและพัฒนา ผลิตครูฝึก 50 คน เมื่อ พ.ศ. 2547-2548 ซึ่งสามารถฝึกทักษะคนตาบอดได้ 356 คน ต่อมา 12กรกฎาคม 2553 คณะกรรมการหลักฯ สปสช. เห็นชอบให้มีระบบการพัฒนา การให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น เพื่อการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation & Mobility : O&M) ให้มีการสร้างเครือข่ายการรับส่งต่อกันภายในจังหวัด โดยใช้กองทุนฟื้นฟูฯ จัดทำโครงการและจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนตาบอด ที่หน่วยบริการ โรงพยาบาบศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ที่มีความพร้อม
รองเลขาธิการฯ กล่าวว่า ในช่วงสิงหาคม -มีนาคม 2554 สปสช.ร่วมกับ รพ.,ส.ราชสุดา, สมาคมคนตาบอดฯ จัดทำโครงการอบรมผู้ให้บริการหลักสูตร 200 ชม. เพื่อให้บริการคนพิการ 120 ชม.
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2553 – ปัจจุบัน มีการทำแผนยุทธศาสตร์ 6 ปี ทำให้มีผู้ได้รับบริการจำนวนมาก เมื่อสิ้นสุดแผน บริการมีแนวโน้มบริการลดลง การให้บริการปรับจากเชิงรุกเป็นเชิงรับเท่านั้น
สปสช.จึงมีนโยบายสนับสนุนให้องค์กรคนพิการ ที่มีศักยภาพตามเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการในปี 2564 โดยมีศูนย์บริการคนพิการทั่วไป เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการ จำนวน 1 แห่ง และในปี 2568 มีจำนวน 16 แห่ง และอยู่ระหว่างเตรียมพัฒนาศักยภาพอีก 30 แห่ง โดยร่วมกับสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย,สถาบันราชสุดาฯ, มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (TRIP) ในการพัฒนาศักยภาพผู้ให้บริการ
. “เพื่อให้คนพิการทางการเห็นเข้าถึงสิทธิการดูแลทางสุขภาพและสิทธิสวัสดิการทางสังคมอย่างเท่าเทียมและเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้สามารถช่วยเหลือตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยมีเงื่อนไขการรับบริการ จะต้องเป็นคนพิการทางการเห็น ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ทั้งที่เป็นคนพิการตั้งแต่กำเนิด หรือภายหลัง กรณีผู้สูงอายุที่มีอายุเกิน 60 ปี ขึ้นไป ให้เน้นผู้ที่สามารถเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้ ”รศ.ภญ.ยุพดี รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
รองเลขาธิการสปสช.กล่าวว่า คุณสมบัติผู้ให้บริการ ครูฝึกทักษะ O&M ต้องผ่านการอบรมในหลักสูตรครูฝึกพื้นฐาน (O&M Instructor) > 200 ชม. หรือไม่น้อยกว่า 6-8สัปดาห์ จากสถาบันราชสุดา คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ หน่วยงานอื่นที่ สปสช.กำหนดเพิ่มเติม
สำหรับการเข้ารับบริการฟื้นฟูคนตาบอด สามารถเข้ารับบริการได้ดังนี้ 1.โรงพยาบาลในพื้นที่หรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ แนะนำมารับบริการโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว 2. หน่วยบริการค้นหากลุ่มเป้าหมายที่อยู่ในชุมชนมาเข้ารับบริการ ตามเงื่อนไข และ 3. โทรเข้าสายด่วน 1330 หาศูนย์บริการคนพิการทั่วไปที่มีบริการและอยู่ใกล้บ้านท่าน ตั้งเป้าให้ศูนย์บริการคนพิการที่ให้บริการฝึกทักษะ O&M กระจายอยู่ทั่วประเทศ หรืออย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่ง
รศ.ภญ.ยุพดี กล่าวว่า การมาเยี่ยมชมศูนย์แห่งนี้เพราะเป็น 1ใน 16 แห่ง ที่ต้องทำงานร่วมกับสปสช.จะมีการสอนใช้ไม้เท้าขาว การดำรงชีวิตสิ่งแวดล้อมปกติและมารับงบประมาณกับสปสช. ซึ่งเป็นการสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับกลุ่มเปราะบางได้ส่วนหนึ่ง
จากนั้นได้เยี่ยมชมกิจกรรมและการจัดบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการทางการมองเห็นด้านกาาทำความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว ภายในศูนย์
ขณะที่ นพ.สาธิต ทิมขำ ผอ.สปสช.เขต4 สระบุรี กล่าวว่า ศูนย์บริการคนพิการของมูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาจังหวัดนครนายก ตั้งอยู่ที่ตำบลป่าขะ อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ขึ้นทะเบียนประเภทหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2568 มีศักยภาพในการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเห็น เพื่อการสร้างความคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมและการเคลื่อนไหว (Orientation & Mobility : O&M) ให้มีการสร้างเครือข่ายการรับส่งต่อกันภายในจังหวัด ภายใต้การบริหารจัดการของ อบจ./พมจ. เพื่อให้คนพิการทางการเห็นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถช่วยเหลือตนเองในการใช้ชีวิตประจำวันได้โดยลดการพึ่งพาให้น้อยที่สุด

“ศูนย์บริการคนพิการฯแห่งนี้มี นางสาววัลลภา ศาลารักษ์ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพคนตาบอดพิการซ้ำซ้อนนครนายก (บ้านรื่นสุข) มีคนพิการในการดูแลจำนวน 79 คน เป็นชาย 43 คนและหญิง 36 คน มีการจัดบริการโดยแบ่งเป็นกลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพิการซ้ำซ้อนรุนแรง กลุ่มพิการซ้ำซ้อนปานกลางและกลุ่มพิการซ้ำซ้อนหรืองานอาชีพ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการการฟื้นฟูที่แตกต่างกันไปตามความพิการซ้ำซ้อน นอกจากนี้ยังให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการโดยชุมชน ด้วย“ นพ.สาธิตกล่าว