หมอจเด็จ เลขาธิการสปสช. จับมือสวรส. สภาเภสัชฯลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี 1ใน4จังหวัดนำร่อง เพื่อเยี่บมชมติดตามการดำเนินงานของร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพตามโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่
เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2567 คณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมด้วย นายแพทย์สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ บอร์ดสปสช. ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. นพ.พีระมน นิงสานนท์ ผอ.สปสช.เขต5 ราชบุรี ลงเยี่ยมและรับฟังการเชื่อมต่อข้อมูลตามโครงการบัตรประชนใบเดียว ที่รพ.พระจอมเกล้า โดยมีนพ. พิเชษฐ พัวพันกิจเจริญ ผอ.รพ.พระจอมเกล้า และทีมผู้บริหารรพ.ให้การต้อนรับและแลกเปลี่ยข้อมูล ซึ่งเป็น จังหวัดนำร่อง โครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ระยะแรก
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. ลงพื้นที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็น 1 ในจังหวัดนำร่องนโยบายยกระดับบัตรทอง บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ เพื่อดูงานการเชื่อมต่อข้อมูลตามโครงการบัตรประชาชนใบเดียว และติดตามการดำเนินงานของร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ
“ การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามและรับฟังปัญหาอุปสรรคและในการดำเนินโครงการบัตรประชาชนใบเดียว จากหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้งร้านยาและคลินิกการพยาบาลฯ เช่น มีประเด็นในเรื่องการเชื่อมต่อข้อมูลและการเบิกจ่ายหรือไม่ อยากให้ สปสช. สนับสนุนในเรื่องใดเพิ่มเติม ฯลฯ หลังจากที่ได้รับข้อมูลในพื้นที่แล้ว สปสช. จะได้กลับไปปรับปรุงหลักเกณฑ์วิธีการต่างๆ ให้สามารถสนับสนุนหน่วยบริการเหล่านี้ในการดูแลประชาชนได้อย่างเต็มที่ และช่วยให้การขยายพื้นที่นำร่องอีก 8 จังหวัด และทั่วประเทศ เป็นไปด้วยดี” เลขาธิการสปสช. กล่าว
จากนั้น คณะฯ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินการของร้านยาและคลินิกที่เข้าร่วมดูแลในโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ณ ยุพินคลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ต.หัวสะพาน อ.เมืองเพชรบุรี และ ร้านเฮือนยา ภก.สีรุ้ง ต.หนองปง อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนเป็นไททรงดำ
เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ในปี 2567 นี้ ตั้งเป้าหมายให้มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 5,000 แห่ง และให้มีร้านยาที่ร่วมบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการอย่างน้อยกระจายอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เนื่องจากบางจังหวัดมีหลายอำเภอ จึงอยากให้มีบริการร้านยาที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในอนาคตก็ตั้งเป้าหมายให้ร้านยาทุกแห่งเข้ามาร่วมให้บริการนี้เพื่อร่วมดูแลประชาชนในระบบบัตรทองฯ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีร้านยาเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว กว่า 2,000 แห่งแล้ว
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่เยี่ยมชมและติดตามหน่วยบริการปฐมภูมิพบว่าสามารถเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนได้มากโดยเฉพาะบริการใน 3 อย่าง ก่อนไปรพ. เช่น การทำแผล การให้คำปรึกษาด้านส่งเสริมคุณภาพป้องกันโรค หรือการรักษาเบื้องต้น เพราะตนเชื่อว่า ในอนาคต คลินิกพยาบาลชุมชน เข้ามาเสริมและช่วยลดความแออัดให้กับรพ. นอกจากร้านยา รวมทั้งรพ.ก็มีกลไกในการเชื่อมเครือข่ายต่างๆ และในอนาคตเรามีการวางแผนไว้ว่าจะใข้ชุมชนเป็นตัวตั้ง และบูรณาการหน่วยงานต่างๆเข้าไป เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด อีกทั้งทุกหน่วยงานที่เข้าร่วมก็มีกฎหมายวิชาชีพคุมอยู่
จากที่ลงไปดู รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี 1 ในจ.นำร่องพบว่ามีปัญหาอุปสรรตนิดหน่อยเรื่องการเชื่อมต่อระบบข้อมูล การเบิกจ่าย ที่ยังมีความไม่เข้าใจบ้างแต่ก็เป็นปัญหาเพียงเล็กน้อย ซึ่งก็ต้องลงไปแก้ไข และการที่ลงพื้นที่ดูจ.นำร่องก็เพื่อต้องการทราบถึงปัญหายิ่งมีมากเราจะได้ช่วยแก้ไข หากลงพื้นที่มาดูแล้วพบว่าไม่มีปัญหาเลยตนไม่ได้ดีใจ “ยิ่งมีปัญหามาก เราอาจไปช่วยแก้ปัญหาและช่วยปรับปรุง ไม่ว่าจะเป็น สวรส. สภาเภสัชกรรม“อีกทั้งตนเชื่อว่าการให้บริการแบบนี้จะได้ความเป็นพี่เป็นน้องด้วย” นพ.จเด็จ กล่าวและเสริมว่า หากประชาชนต้องการตรวจสอบสิทธิของตัวเองซึ่งมีหลายระบบ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขเน้นให้ประชาชนเข้าไปเช็คที่ หมอพร้อม ในอนาคตอาจจะมีแอพพลิเคชั่นต่างๆเข้ามาเพิ่มเติม หรืออาจจะถือบัตรประชาชนใบเดียวไปหน่วยบริการก็สามารถตรวจสอบสิทธิได้ ซึ่งมั่นใจว่าเรามีระบบป้องกันข้อมูลดี
ด้านนพ.สุวิทย์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่และใช้บริการด้วยการเสียบบัตรประชาชนของตนที่ คลิกพยาบาลชุมชน พบว่า ประชาชนเกือบทุกสิทธิสามารถมาใช้บริการได้ไม่เสียค่าบริการ ”เฉพาะเรื่องบริการส่งเสริมป้องกันโรคเท่านั้น เช่น ข้าราชการบำนาญ สิทธิประกันสังคม เป็นต้น ก็ใช้บริการได้“ แต่ถ้าเจ็บป่วยรักษาโรคต้องใช้ตามสิทธิ ถ้าสิทธิบัตรทอง สามารถใช้ร้านยา หรือคลินิกปฐมภูมิใกล้บ้านได้
ด้าน ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรม คนที่ 2 กล่าวว่า ในส่วนสภาเภสัชกรรมเข้าร่วม 3 โครงการ คือ 1.การสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ประชาชนทุกสิทธิสามารถเข้ารับบริการได้ เช่น ยาคุมกำเนิด ถุงยางอนามัย ยาบำรุงครรภ์ เป็นต้น 2.การดูแลผู้ป่วยมีอาการเจ็บเล็กน้อย 16 อาการ มาที่ร้านยา และ3.โครงการรับยาใกล้บ้านเพื่อลดความแออัดรพ. เพิ่มโอกาสให้ประชาชนได้การเข้าถึงบริการ
ทั้งนี้ คณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบหลักประกันสุขภาพ ซึ่งจะมีการพิจารณาแนวทางการพัฒนาขยายเครือข่ายและนวัตกรรมบริการของร้านยาที่เข้าร่วมดูแลประชาชนในระบบบัตรทอง รวมทั้งหารือถึงทิศทางและยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายร้านยาในระบบบัตรทองในมิติด้านการบริหารจัดการและการวิจัยรวมถึงงานวิชาการ.ระหว่าง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สภาเภสัชกรรม และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)