หมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช.ลงพื้นที่จ.น่าน ดูคลินิกทำฟัน-ร้านยา’ ร่วม ‘30 บาทรักษาทุกที่’ เพิ่มโอกาสสิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการ
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.67 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. พร้อมด้วย นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสปสช.และ นางสาวจินตนา สันถวเมตต์ รก.ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่วัดอรัญญาวาส อ.เมือง จ.น่าน รับฟังบรรยายสรุปเรื่อง “ การพัฒนาและรังสรรค์นวัตกรรมในรูปแบบใหม่: โครงการน่านแซนด์บ็อกซ์”( Nan Sandbox) และความเชื่อมโยงกับกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่
โดย พระครูพิทักษ์นันทคุณ เจ้าอาวาส และที่ปรึกษามูลนิธิฮักเมืองน่าน และนางบัวตอง ธรรมมะ ผู้จัดการมูลนิธิฮักเมืองน่าน พร้อมติดตามการดำเนินการตาม “นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่” ของหน่วยบริการนวัตกรรม ที่ดำเนินการโดยคลินิก“ทันตกรรมทีสมายล์ ”และร้านยา“บ้านยาหัวสะพาน”พร้อมร่วมติดตราสัญลักษณ์ใหม่ “30บาทรักษาทุกที่”
ทพญ.ณัฐฌา สุขสันต์ศิริกุล ทันตแพทย์ คลินิกทันตกรรมทีสมายล์ ” เปิดเผยว่า หลังจากที่ทางคลินิกฯ ได้เข้าร่วมเมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นหน่วยบริการนวัตกรรมภายใต้นโยบาย “30บาทรักษาทุกที่” นั้น ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ในพื้นที่ จ.น่าน ซึ่งมีคลินิกทันตกรรม เพียงแห่งเดียว ในอ.เมือง จ.น่านที่ร่วมให้บริการ และทำให้คลินิกฯ เริ่มเป็นที่รู้จักในพื้นที่มากขึ้นด้วย เนื่องจากประชาชนสิทธิบัตรทองสามารถมารับการดูแลรักษาสุขภาพช่องปากได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จนมีการบอกต่อกันในพื้นที่ ทั้งในระดับเพื่อนบ้านหรือชุมชนใกล้เคียง
“มองว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้ารับบริการทันตกรรมของประชาชน ลดความแออัดหรือการรอคอยการรักษาในโรงพยาบาลได้ ซึ่งการเข้ารับบริการทำได้ง่ายใช้เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็เข้ารับบริการได้ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยสิทธิบัตรทองเข้ารับบริการที่คลินิกฯ เฉลี่ยอยู่ที่ 10-15 คนต่อวัน และมีแนวโน้มการเข้ารับบริการเพิ่มมากขึ้น” ทพญ.ณัฐฌา สุขสันต์ศิริกุล กล่าว
ขณะที่ ภก.วิบูลย์ชัย ผลทิพย์ เจ้าของร้านยา“ บ้านยาหัวสะพาน ” กล่าวว่า ทางร้านยาได้เข้าร่วมในเฟสที่3 ตั้งแต่มีนาคม 2567และเริ่มให้บริการภายใต้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ โดย ร้านยาให้บริการผู้ป่วยประมาณ 10-15 รายต่อวัน feedback ลูกค้าดี นอกจากนี้ร้านยังให้บริการแจกถุงยางอนามัยด้วย อย่างไรก็ตาม มีประชาชนมาใช้บริการมากขึ้น ตอบโจทย์กับเหตุผลที่ตัดสินใจเข้าร่วมด้วย
นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ป่วยชอบการข้ารับบริการแบบนี้เพราะสะดวก และเภสัชกรมีเวลาให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว ไม่ต่ำกว่า 6 นาทีต่อคน รวมทั้งที่ร้านได้โทรติดตามอาการอีกด้วย หลังประชาชนรับยาไปแล้ว
“ประชาชนที่มารับบริการในร้านยาส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และมักอยู่ในชุมชนห่างไกลจากตัวเมือง รวมถึงโรงพยาบาล เมื่อประชาชนกลุ่มนี้มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยโดยมากจึงเรื่องมารับบริการที่ร้านยาแทนผู้ป่วยก็สามารถรับยาและให้คำแนะนำด้วยโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะที่การเบิกจ่ายกับทาง สปสช. ขณะนี้ยังไม่มีปัญหาอะไร เพราะหลังจากส่งเบิกกับทาง สปสช. ก็ได้เงินภายใน 72 ชั่วโมง ถือว่าเร็วพอสมควร“ ภก.วิบูลย์ชัย ผลทิพย์ เจ้าของร้านยาบ้านยาหัวสะพานกล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า เป้าหมายของนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ คือต้องการให้มีหน่วยบริการนวัตกรรมต่างๆ กระจายตัวอยู่ในหลายพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลอย่างครอบคลุม เพื่อเพิ่มความสะดวก และการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงลดความแออัดให้กับโรงพยาบาลรัฐ ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยบริการนวัตกรรม และพูดคุยกับประชาชนในหลากหลายพื้นที่ ในทุกครั้งจะได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากประชาชนกลับมาก โดยเป็นความเห็นที่ได้จากการเข้าการรักษาอาการเจ็บป่วยของตนเอง เช่น ปวดฟัน อยากถอนหรืออยากอุดฟันก็สามารถพบทันตแพทย์ที่คลินิกทันตกรรมที่เข้าร่วมบริการได้ หากพบข้อบ่งชี้และเป็นไปตามสิทธิประโยชน์รับบริการตามที่ สปสช. และทันตแพทย์สภากำหนด ก็สามารถรับบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
อย่างไรก็ดี อยากเรียนพี่น้องประชาชนว่าในการมารับบริการที่หน่วยบริการนวัตกรรมที่มีป้ายสัญลักษณ์ 30 รักษาทุกที่ ไม่เสียค่าใช้จ่ายไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ หากพบว่าแพทย์เรียกเก็บเงินจากการบริการ สามารถโทรแจ้งสายด่วน 1330 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
จากนั้น คณะนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารีเลขาธิการสปสช. ติดตราสัญลักษณ์ใหม่ “30 บาทรักษาทุกที่” ทั้ง2แห่ง ด้วย