
หมอจเด็จ เลขาธิการ สปสช. หนุนกองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัดสกลนคร ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ตามวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการกองทุน โดยการสนับสนุนบริการฟื้นสมรรถภาพด้านการแพทย์ในชุมชน
กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับ จังหวัดสกลนคร” กลไกขับเคลื่อนด้านสุขภาพ ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เพื่อคนไทยในพื้นที่
เลขาธิการ สปสช. หนุนกองทุนฟื้นฟูฯ จังหวัดสกลนคร ดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้เข้าถึงบริการสาธารณสุข ตามวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการกองทุน โดยการสนับสนุนบริการฟื้นสมรรถภาพด้านการแพทย์ในชุมชนและอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพ รวมถึงการจัดสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2568 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วยนพ.นพรัตน์ พันธุ์เศรษฐ์ ผอ.สปสช เขต 8 อุดรธานี และคณะลงพื้นที่รับฟังความเห็นการขับเคลื่อนงานและการบริหารกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพจังหวัดสกลนคร การดูแลคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง พร้อมลงเยี่ยมบ้านผู้ป่วยร่วมกับโรงพยาบาลค่ายกฤษณ์สีวะรา และแลกเปลี่ยนความเห็น ร่วมถึงรับฟังปัญหาการดำเนินงานกองทุน ฯ ในพื้นที่โดยมี นายวิสุทธิ์ ศิริคุณ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร นางกชพรรณ โกสีลา นักวิชาการสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร และพันเอกจิตกานต์ อรรคธรรม ผอ. รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร ร่วมแลกเปลี่ยนและสรุปภาพรวมกองทุนฟื้นฟูฯ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นหนึ่งในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช. ร่วมมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ โดยร่วมสมทบงบประมาณค่าบริการสาธารณสุข จำนวน 8 บาท ต่อหัวประชากร เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่ ในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ และการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพในจังหวัดอย่างครบวงจร มีประสิทธิภาพ ตอบสนองความต้องการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลัน และผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมของกองทุนฟื้นฟูฯปี 2568 มีกองทุนฟื้นฟูฯ จำนวน 71 จังหวัด หรือคิดเป็นร้อยละ 92.1 (อบจ.ทั้งหมด 76 จังหวัด) มีการสนับสนุนโครงการสำหรับศูนย์ยืม-คืน ซ่อม อุปกรณ์ทางการแพทย์ และการจัดสภาพแวดล้อมหรือบริการขั้นพื้นฐานเพื่อให้ผู้มีสิทธิได้รับการ ดูแลอย่างต่อเนื่อง
“กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพฯ สกลนคร ถือว่าเป็น กองทุนที่บริหารจัดการโดย อบจ. ที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินกองทุนที่มุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุด ซึ่งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดเป็นกลไกด้านสุขภาพที่สำคัญ ช่วยดูแลและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่ดีส่งผลให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณได้มากเป็นไปตามเป้าหมาย และอาจเป็นต้นแบบให้กับจังหวัดอื่นๆ” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ด้านนายวิสุทธิ์ ศิริคุณ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา หลังลงนามบันทึกข้อตกลง สปสช. จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัดแบบความร่วมมือ เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2564 สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการการดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพกลุ่มผู้ป่วยติดเตียง-คนพิการ-ผู้ด้อยโอกาส ในพื้นที่ภายใต้งบประมาณ อบจ.สกลนครและสปสช. ปี2565จัดสรรงบในอัตรา 5 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ สปสช.สนับสนุน 5,000,725 บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน จำนวน 15,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 20,000,725 บาท
อย่างไรก็ตามใน ปี2566 เพิ่มเป็นอัตรา 8 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ สปสช.สนับสนุน 6,876,336บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน จำนวน 7,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,876,336 บาท ในปี2567 จัดสรรงบในอัตรา 8 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ สปสช.สนับสนุน 6,801,376 บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน จำนวน 7,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 13,801,376 บาท ปี 2568 จัดสรรงบในอัตรา 8 บาท/ประชากรผู้มีสิทธิ เป็นเงินจำนวน 7,930,672 บาท และ อบจ.สกลนคร สมทบเงิน จำนวน 8,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 15,930,672 บาท
“จากผลการดำเนินงาน ปี 2567 สามารถจัดบริการและจัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการให้ครอบคลุมและตอบสนองต่อความจำเป็นของคนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ที่อยู่ในระยะที่จำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพ สนับสนุนช่วยเหลือวัสดุอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการแก่กลุ่มเป้าหมายให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พร้อมเป็นศูนย์กลางที่มีความพร้อมในการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ ครุภัณฑ์ ที่ใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพและการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับการฟื้นฟูฯ และหลังการฟื้นฟู สมรรถภาพให้แก่กลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่อยู่ในระยะกึ่งเฉียบพลันและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร ได้จัดหาอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ สนับสนุนการปฏิบัติงานฟื้นฟูผู้ป่วยในพื้นที่จังหวัดสกลนคร งบประมาณ 10,311,250 บาท ประกอบด้วย ไม้ค้ำยันอลูมิเนียม ไม้ค้ำยันแบบไม้ ไม้เท้า 3 ขา เบาะรองนั่งสำหรับคนพิการที่นอนลม วีลแชร์พับได้ รถสามล้อโยก เกจ์ออกซิเจน เก้าอี้สุขา วอล์คเกอร์ ไม้เท้า 3 ปุ่ม ไม้เท้า 4 ปุ่ม สายออกซิเจน เครื่องผลิตออกซิเจน ขนาด 5 ลิตร เตียงนอน 3 ไกร์ เครื่อง Suction และรถเข็นนั่งเด็กพิการ
นอกจากนี้ ได้จัดทำโครงการศูนย์ซ่อมและผลิตอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดย อบจ.สกลนคร เป็นเงิน 1,023,550 บาท, สนับสนุนงบหน่วยบริการและ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่จังหวัดสกลนคร เพื่อจัดทำโครงการจัดบริการพัฒนารูปแบบการดูแลช่วยเหลือและฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ที่สิทธิได้รับการฟื้นฟู เป็นเงิน 1,537,810 บาท เช่นโครงการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุที่มีภาวะพึงพิง ข้อเข่าเสื่อม ฟื้นฟูคนตาบอด (O&M) รูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม, ฟื้นฟูสมรรถภาพกลุ่มกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้สูงอายุและคนพิการด้านการเคลื่อนไหว เป็นต้น สนับสนุนงบประมาณเป็นเงิน 2,468,820 บาท
สำหรับการจัดสภาพแวดล้อมปรับสภาพที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลันและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง และสนับสนุนในลักษณะการจัดบริการฟื้นฟูเชิงเชิงรุกในชุมชนโดยหน่วยบริการ การจัดหารวมถึงการซ่อมดัดแปลงเปลี่ยนชิ้นส่วน หรือจัดเฉพาะของอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ เป็นเงิน 2,936,100 บาท ผู้อำนวยการกองสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร กล่าวว่า”
ด้านพันเอกจิตกานต์ อรรคธรรม ผอ. รพ.ค่ายกฤษณ์สีวะรา จ.สกลนคร กล่าวว่า ปกติรพ.ค่ายฯให้บริการบุตรกลุ่มพิเศษ ผู้ทุพลภาพ ผู้สูงอายุ และชุดแพทย์เคลื่อนที่ในการลงเยี่ยมบ้านของกำลังพล และประชาชนทั่วไปที่อยู่พื้นที่โดยรอบของรพ.ค่ายฯทุกสิทธิ์รวมถึงบัตรทอง30บาทด้วย โดยใช้หลัก 3ประสาน หน่วยทหารในพื้นที่ สมาคมแม่บ้านทหารบก และรพ.ค่ายฯในการลงไปทำกายภาพให้ที่บ้านในกลุ่มบุตรพิเศษ กลุ่มผู้สูงอายุที่ทุพลภาพอยู่แล้ว อีกทั้งรพ.ค่ายฯยังมีการลงสำรวจและเยี่ยมชุมชนโดยรอบพื้นที่พบว่าประชาชนในชุมชนมีความต้องการบุคลากรกายภาพจำนวนมาก จึงได้มีการปรับโปรแกรมดูแลบางส่วน ส่วนเรื่องการซ่อมบำรุงรักษากายอุปกรณ์นั้นจะขอรับการสนับสนุนจากชุดช่างมณฑลทหารบกในพื้นที่อยู่แล้วในส่วนของครอบครัวกำลังพล แต่ส่วนของประชาชนในชุมชนจะใช้งบประมาณปี2567 จาก อบจ.สกลนครมาช่วยสนับสนุน จำนวน 60,000 บาท ซึ่งถือเป็นครั้งแรกมาช่วยในการบูรณาการร่วมกัน ซึ่งทำให้ประชาชนที่ต้องการได้รับบริการเร็วขึ้น โดยรับผู้ป่วยนอกที่มารับการรักษาเป็นประชาชนทั่วไปประมาณ 70% และผู้ป่วยไตที่มาฟอกเลือดกับรพ. 99%
ทั้งนี้ คณะลงเยี่ยมบ้านนานเขียน พรหมคำ อายุ65 ปี ผู้ป่วยเส้นเบือดสมองตีบและเป็นอัมพฤกษ์ครึ่งซีกขวา เดินไม่ได้รับการดูแลจากกองทุนฟื้นฟูฯ ที่ได้รับกายอุปกรณ์ และปรับสภาพแวดล้อมบ้าน เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู ด้วย