หมอจเด็จ เลขาฯสปสช.ลงพื้นที่ดูความพร้อมศูนย์มะเร็งภูเก็ต รพ.กรุงเทพสิริโรจน์ ก่อนเปิดให้บริการรังสีรักษาแก่ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองที่เข้าร่วมโครงการ Cancer Anywhere 1 ตุลาคม 2567 นี้
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสปสช.และนายธงชัย สิทธิยุโณ ผู้อำนวยการ สปสช.เขต11 สุราษฎร์ธานีและคณะลงพื้นที่โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ โดยมีนายแพทย์นรินทร์ บุญจงเจริญ ประธานคณะผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือบริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) กลุ่ม 6 และนายแพทย์พิริยะ อธิสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ ต้อนรับคณะ และร่วมแถลงความร่มมือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กับโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลของ สปสช.ได้ที่ศูนย์มะเร็งภูเก็ต โรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์
นายแพทย์นรินทร์ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นและที่มาของศูนย์มะเร็งภูเก็ต (Phuket Cancer Center) อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDB) ปี 2564 พบว่าโรคมะเร็งและเนื้องอกยังคงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยอันดับสูงสุดตลอด 23 ปีที่ผ่านมา โดยในแต่ละปีอัตราดังกล่าวยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถิติผู้ป่วยมะเร็งในภาคใต้ที่มีภูมิลำเนาในเขตสุขภาพ 11 ซึ่งประกอบด้วย จังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ระนอง และภูเก็ต มีจำนวนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจำเป็นต้องใช้การรักษาด้วยการฉายรังสีร่วมด้วย แต่เนื่องจากศูนย์ให้บริการรังสีรักษาส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออก คณะผู้บริหารระดับสูงของบริษัทกรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) จึงตัดสินใจดำเนินโครงการ “ศูนย์มะเร็งภูเก็ต” (Phuket Cancer Center) ขึ้น เพื่อให้คนภูเก็ตและในพื้นที่อันดามันเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยสนับสนุนยุทธศาสตร์ Medical and Wellness Destination ของจังหวัดภูเก็ตในฐานะที่เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้อีกด้วย”
นพ.พิริยะ บอกว่า ศูนย์มะเร็งแห่งนี้ ใช้งบลงทุนกว่า 300 ล้านบาท ในพื้นที่กว่า 1พันตารางเมตร ออกแบบภายใต้แนวคิดสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ในการรักษามีทั้งเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เครื่องฉายรังสีด้วยการเร่งอนุภาค เครื่องให้รังสีระยะสั้น ฯลฯ ทั้งนี้มีนโยบายให้บริการผู้ป่วยทุกสิทธิ โดยเฉพาะผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะให้บริการตามมาตรฐาน โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอย่างแน่นอน
นพ.จเด็จ กล่าวว่า นโยบาย ‘มะเร็งรักษาที่ไหนก็ได้ที่พร้อม’ หรือ Cancer Anywhere ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนให้การตอบรับอย่างดี เพราะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “บัตรทอง 30 บาท” สามารถเข้าถึงการรักษาได้สะดวกและรวดเร็ว ครอบคลุมตามกระบวนการ โดยผู้ป่วยสามารถรักษาข้ามเขต ข้ามจังหวัดได้ในโรงพยาบาลที่รองรับสิทธิบัตรทอง โดยมีเจ้าหน้าที่ประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นและไม่ต้องใช้ใบส่งตัว
ทั้งนี้ ความสำเร็จของนโยบายนี้อยู่ที่ความร่วมมือจากโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีศักยภาพให้บริการ โดยในวันนี้ สปสช. มีความยินดีอย่างยิ่งในความร่วมมือจากทางโรงพยาบาลกรุงเทพสิริโรจน์ที่ได้เข้ามาร่วมเป็น “หน่วยบริการที่ให้บริการรังสีรักษาผู้ป่วยมะเร็งในระบบบัตรทอง” ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย มีคุณภาพและมาตรฐานการรักษาทางการแพทย์ เพิ่มโอกาสการรักษาให้ผู้ป่วยบัตรทอง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในฝั่งอันดามัน ซึ่งยังไม่มีหน่วยบริการรังสีรักษา”
เลขาธิการสปสช.กล่าวว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่เขตสุขภาพ 11 มีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการตามนโยบายฯ จำนวน 14 แห่ง โดยขึ้นทะเบียนหน่วยรังสีรักษา 2 แห่ง และบริการเคมีบำบัด ระดับที่ 1 จำนวน 12 แห่ง และระดับที่ 2 จำนวน 2 แห่ง ซึ่งตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปี 2567 ในปัจจุบันมีผู้ป่วยมะเร็งสิทธิบัตรทองในพื้นที่เขตสุขภาพ 11 เข้ารับบริการตามนโยบายแล้วจำนวน 26,297 คน เป็นการรับบริการ 278.537 ครั้ง การเปิดศูนย์มะเร็งภูเก็ตครั้งนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งในภูมิภาคอันดามันและช่วยเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่นี้ต่อไป
“ความร่วมมือในครั้งนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ภาคเอกชนเข้ามาร่วมจัดบริการช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่ฝั่งอันดามัน ขณะเดียวกันก็พบอัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งสูงขึ้นทุกปี มีจำนวนผู้ป่วยมากกว่าสถานบริการ ที่นี่ซึ่งมีความพร้อมในทุกด้าน จึงเป็นอีกหนึ่งจุดช่วยเพิ่มความสะดวกและเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชน” เลขาธิการสปสช.กล่าว