
หมอจเด็จ เลขาฯสปสช. เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้หอผู้ป่วย VDU รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช.ในการดูแลผู้ป่วยที่พ้นภาวะวิกฤตแล้วแต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอย่างเป็นระบบตั้งแต่ในโรงพยาบาลจนถึงที่บ้าน
เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พร้อมด้วย นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการ สปสช. และแพทย์หญิง วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.สปสช. เขต1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่จ.เชียงใหม่เยี่ยมชมการดำเนินงาน “ศูนย์การเรียนรู้ หอผู้ป่วยพึ่งพาเครื่องช่วยหายใจ (Ventilator Dependent Unit : VDU)” ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) โมเดลการดำเนินงานดังกล่าวมีศ.เกียรติคุณ นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ แพทย์อายุรศาสตร์ ผู้ริเริ่มการสร้างหอผู้ป่วย VDU มาตั้งแต่ปี 2560 และได้รับรางวัลมิตรภาพบำบัดระดับดีเด่นประจำปี 2567 ประเภทหน่วยบริการตติยภูมิระดับมหาวิทยาลัย และได้มีพิธีมอบรางวัลไปเมื่อเดือน ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา
โดยมี รศ.นพ.นเรนทร์ โชติรสนิรมิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. รศ.พญ.อรินทยา พรหมินธิกุล ผอ.พ.มหาราชนครเชียงใหม่ รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.และทีมสหวิชาชีพ มช.ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปการดำเนินการฯ
นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ผู้ริเริ่มในการสร้างหอผู้ป่วย VDU มช. เล่าว่า ในช่วงปี 2560 สถานการณ์ของโรงพยาบาลในขณะนั้นจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยวิกฤตมีจำกัด และเมื่อผู้ป่วยพ้นภาวะวิกฤตแล้ว ราวครึ่งหนึ่งยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจต่อเป็นเวลานาน ซึ่งหากย้ายผู้ป่วยไปวอร์ดสามัญก็อาจไม่สามารถดูแลผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจได้อย่างเต็มที่ หรือหากอยู่ในหอผู้ป่วยวิกฤตต่อ ก็ทำให้ย้ายผู้ป่วยรายใหม่เข้ามาไม่ได้เพราะเตียงเต็ม ด้วยเหตุนี้ จึงมีแนวคิดในการสร้างหอผู้ป่วยที่พ้นวิกฤตแล้วแต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับการดูแลที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาหายใจเองได้ หรือการดูแลแบบประคับประคองอย่างเป็นระบบโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล และบางรายหากต้องใช้เครื่องช่วยหายในระยะยาวก็จะสนับสนุนให้ยืมเครื่องช่วยหายใจหรืออุปกรณ์อื่นๆที่จำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านหรือย้ายไปนอนโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้านได้อย่างเหมาะสม และยังช่วยเพิ่มการหมุนเวียนเตียงให้หอผู้ป่วยวิกฤตสามารถรองรับผู้ป่วยรายใหม่ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการประชุมหารือจนได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย แต่หากดำเนินการตามระเบียบราชการจะไม่มีงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ ดังนั้นจึงใช้วิธีบอกบุญรับบริจาคจากทั้งกลุ่มนักเรียนเก่า รร.บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ตลอดจนกัลยาณมิตรทั้งเพื่อนแพทย์ พยาบาล ผู้ป่วยและญาติ จำนวน 416 คนจนสามารถระดมทุนได้กว่า 9.6 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างหอผู้ป่วย 2 ห้อง รวม 8 เตียง ห้องประชุมกลุ่มครอบครัวและสอนญาติผู้ป่วย ห้องเตรียมยาและเวชภัณฑ์ เครื่องช่วยหายใจและอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆสำหรับผู้ป่วย
ด้าน รศ.นพ.เฉลิม ลิ่วศรีสกุล หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบการให้บริการของหอผู้ป่วย VDU จะมีทั้งการช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถนะการหายใจ ให้สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้อย่างถูกต้องตามมาตรฐาน ส่วนญาติจะได้รับการฝึกฝนวิธีการดูแลผู้ป่วย ให้มีความสามารถในการดูแลผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจระยะยาวได้อย่างถูกต้อง และสนับสนุนให้ผู้ป่วยกลับไปอยู่ที่บ้านได้ หรือในกรณีที่ไม่มีผู้ดูแลที่บ้านก็จะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน โดยมีทีมของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ให้การสนับสนุน
“ ที่สำคัญคือในกรณีผู้ป่วยระยะสุดท้าย ญาติและผู้ป่วยจะได้รับการดูแลแบบประคับประคองจนผู้ป่วยจากไปอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางการดูแลของญาติในสภาพแวดล้อมอันอบอุ่นและบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งนอกจากให้บริการผู้ป่วยแล้ว โรงพยาบาลยังหวังว่ารูปแบบการจัดบริการลักษณะนี้ จะเป็นต้นแบบ Service Model การดูแลผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวและขยายไปยังโรงพยาบาลอื่นๆทั่วประเทศต่อไป”รศ.นพ.เฉลิมกล่าว
หลังจากรับฟังการบรรยายสรุป นพ.จเด็จ ได้เยี่ยมชมหอผู้ป่วย VDU ทั้งการดูแลผู้ป่วยในวอร์ด การสอน-สาธิต การดูแลผู้ป่วยแก่ญาติเพื่อเตรียมพร้อมในการดูแลผู้ป่วยระยะยาวต่อเนื่องที่บ้าน การสนับสนุนอุปกรณ์เครื่องช่วยหายใจให้กับญาติผู้ป่วยที่จะนำไปรักษาต่อที่บ้าน หลังจากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอายุ 67ปีที่มีอาการกล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรงหลังจากพ้นวิกฤตแล้วแต่ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจดูแลที่บ้าน ซึ่งที่ได้รับการดูแลจากทีม VDU อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า การดูแลเรื่องระบบหายใจ ที่ต้องใช้เครื่องมือซับซ้อน จากที่เคยต้องดูแลเฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น แต่วันนี้สามารถนำผู้ป่วยกลับมาดูแลที่บ้านได้ โดยมีบุคลากรของ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทยศาสตร์ มช.และมีCaregiver เข้ามาช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้ รพ.ได้รับรางวัลมิตรภาพบำบัดดีเด่นของปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีระบบการดูแลผู้ป่วยด้วยจิตใจของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่แค่ให้บริการแล้วจบกระบวนการ แต่ลงมาดูแลความเป็นอยู่ถึงที่บ้าน ช่วยจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และจัดอุปกรณ์เข้ามาดูแลอย่างเต็มที่ ทั้งเครื่องช่วยหายใจที่ รพ.ให้ยืม เครื่องผลิตออกซิเจน ออกซิเจนสำรอง รวมถึงเครื่องปั่นไฟ เมื่อเห็นระบบตรงนี้ ทำให้มั่นใจได้ว่าระบบสุขภาพในอนาคตอาจไม่จำเป็นต้องนำผู้ป่วยไปอยู่ที่โรงพยาบาลอย่างเดียวแล้ว
“จากการพูดคุยกับผู้ป่วย เขาก็ซาบซึ้งมาก ที่ในสภาพแบบนี้ แต่ก็สามารถกลับมาอยู่บ้านอยู่กับครอบครัวได้ โดยก่อนที่จะกลับมาอยู่บ้าน รพ. มหาราชนครเชียงใหม่ ได้มีหอผู้ป่วย VDU ช่วยเตรียมความพร้อมให้ผู้ป่วยและญาติ ฝึกการใช้เครื่องช่วยหายใจ หน่วยนี้ถือเป็นนวัตกรรม ที่จะช่วยทำให้ผู้ป่วยไอซียูลดลง มีเตียงไปรองรับผู้ป่วยที่จำเป็นมากขึ้น นับเป็นการบูรณาการการทำงานที่เป็นตัวอย่างที่ดี และน่าขยายไปยังรพ.ทั่วประเทศได้”นพ.จเด็จ กล่าว
เลขาธิการสปสช. กล่าวต่อว่า สปสช.มีนโยบายดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงอยู่แล้ว แต่เทคโนโลยีที่ใช้ยังธรรมดา และยังต้องอยู่ในมือของแพทย์ แต่นวัตกรรมที่รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ของคณะแพทยศาสตร์ มช.นี้อยู่ในมือของญาติได้ และกลับมาอยู่บ้านได้ โดยมีคุณหมอลงมาเยี่ยมดูแลเป็นระยะ ผู้ป่วยก็พอใจ ความร่วมมือของสหวิชาชีพตรงนี้ จะทำให้ระบบบริการย้ายจาก รพ.กลับมาอยู่ที่บ้านผู้ป่วยมากขึ้น การได้มาดูระบบตรงนี้ ถือว่าเป็นจุดตั้งต้น จากเดิมที่เชื่อว่าเทคโนโลยีต้องอยู่ในมือแพทย์เท่านั้น กลับมาอยู่ในมือของชุมชนและครอบครัว และให้บริการผู้ป่วยด้วยจิตใจของความเป็นมนุษย์มากขึ้น และถือว่าเป็นต้นแบบที่แรกของประเทศอีกด้วย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามรพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมากๆ ที่นอกจากดูแลคนในไข้ในโรคซับซ้อนแล้ว ยังมีระบบดูแลผู้ป่วยไปถึงที่บ้านด้วย นี่เป็นจุดตั้งต้นมุดหมายที่สำคัญของประเทศเลย ซึ่งต่อไปนี้เหมือนเป็นการเปิดศักราชใหม่ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านในอีกระดับหนึ่ง ที่ให้ญาติและรพ.ร่วมมือกัน ในการทำระบบการดูแลในแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน และสปสช.พร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ ผ่านกลไกต่างๆที่ สปสช.มีอยู่ ทั้งอุปกรณ์เครื่องมือที่ยังมีไม่เพียงพอ พร้อมช่วยจัดระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้ายของชีวิต ภายใต้เป้าหมายทำให้ไอซียูว่างพอสำหรับผู้ป่วยที่มีความจำเป็น และคาดว่าในอนาคตก็จะมีความจำเป็นต้องใช้มากขึ้น รวมถึงการทำระบบเครือข่ายที่ต้องมีการเชื่อมข้อมูลต่างๆ ที่หน่วยงานนำร่องในเรื่องนี้ทำให้ระบบนี้มีความเข้มแข็ง ยั่งยืน และเป็นตัวอย่างบริการนี้ให้กับที่อื่นๆต่อไป ซึ่งไม่เพียงแต่ผู้ป่วยที่พ้นระยะวิกฤต แต่สามารถรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะมีผู้ป่วยกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นอีกด้วย