หมอวีระพันธ์ รองเลขาธิการ สปสช. ชื่นชมกปท.สะเนียน จ.น่าน เน้นการบริหารจัดการงบประมาณดูแลสุขภาพที่เหมาะสมกับชุมชน หนุนส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มชาติพันธุ์ ถึง 8 กลุ่ม
เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 นพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสปสช.และ นางสาวจินตนา สันถวเมตต์รก.ผอ.สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น(กปท.)ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน โดยมีนายสว่าง เปรมประสิทธิ์ นายกอบต.สะเนียน และคณะต้อนรับและสรุปภาพรวมของกปท.สะเนียน ซึ่งกปท. ได้รับรางวัลการบริหารจัดการระดับดีเด่นของสปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ในปี 2567 ด้านกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นที่มีการบริหารจัดการงบประมาณที่มีประสิทธิภาพและมีการบริหารจัดการองค์กรเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และเน้นพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุม ภายใต้วิสัยทัศน์ “สานฝัน รวมพลัง เสริมสร้างสังคมสุขภาวะ บนวิถีชุมชน ตำบลสะเนียน”
ช่วงบ่ายได้มอบผ้าอ้อมผู้ใหญ่ตามโครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ และแผ่นรองซับการขับถ่าย. สำหรับบุคคลที่มีภาวะพึ่งพิง และบุคคลที่มีภาวะปัญหาการกลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ (LTC โดยกลุ่ม CG ดูแล) กลุ่มชาติพันธุ์ม้ง และโครงการคัดกรองความผิดปกติสายและแก้ไขปัญหาการมองเห็นไม่ชัดในกลุ่มผู้สูงอายุกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยน (แก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติทางสายให้ได้รับแว่นสายตาและเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึง)
นายสว่าง เปรมประสิทธิ์ นายกอบต.สะเนียน กล่าวว่า กปท.ดำเนินการจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ตำบลสะเนียนขึ้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ 2553 โดยได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลสะเนียน เป็นองค์การบริหารส่วนตำบลสะเนียน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2540 เป็นต้นมาโดยเน้นการบริหารงงบประมาณที่มีสิทธิภาพ และมีการเบิกจ่ายที่โปร่งใสทันเวลา ตลอดจนเน้นการบริหารจัดการองค์กรและการมีส่วนร่วมของชุมชน และเร่งพัฒนาบริการด้านสาธารณสุขที่ครอบคลุมทางด้านสุขภาพ เนื่องจากในพื้นที่ของอบต. มีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ดูแลกลุ่มชาติพันธุ์ ถึงร้อยละ 77.58 เช่น ม้ง เมี่ยน พื้นเมือง ขมุ ลั๊วะ มลาบรี ถิ่น และมูเซอร์ และกลุ่มคนพื้นเมือง ร้อยละ 22.42 จึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรครักษาพยาบาลเชิงรุก และฟื้นฟูสุขภาพ คนในชุมชน
นายก กปท.สะเนียน กล่าวว่า กปท.สะเนียน ได้จัดทำโครงการเพื่อประชาชนในชุมชน โดยสนับสนุนงบประมาณ โครงการคัดกรองความผิดปกติทางสายตาและการแก้ไขปัญหาการมองเห็นไม่ชัดในกลุ่มผู้สูงอายุ ตำบลสะเนียน ทั้งหมดจำนวน 406 ราย มีสายตาที่ผิดปกติต้องพบแพทย์ จำนวน 10 ราย และ โครงการสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ทั้งหมดจำนวน 19 ราย รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในกลุ่มชาติพันธุ์ ทั้งหมดจำนวน 32 โครงการ เป็นเงินจำนวน 451,761 บาท คิดเป็นร้อยละ 50.90
“ ในพื้นที่กปท. สะเนียน แม้จะมีความหลากหลายทางกลุ่มชาติพันธุ์เป็นอบต.ที่อยู่อำเภอเมืองแต่จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นอำเภอเมืองแต่ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ถึง 8 กลุ่ม เราสามารถดูแลบริหารจัดการได้ทั้งกลุ่มคนไทยแล้วก็กลุ่มชาติพันธุ์“ นายกกปท.กล่าวต่อว่า ผลสำเร็จการบริหารจัดการได้เพราะการมีส่วนร่วมกรรมการกองทุน รับรู้สถานการณ์สุขภาพ ความรู้สึกร่วมกันของคนในชุมชน ความรับผิดชอบการบริหารจัดการความสำเร็จของชุมชน วัฒนธรรมสุขภาพชุมชน ผสานภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่น ผสาน ภารกิจ ความร่วมมือ จนเกิดเป็นข้อตกลงสุขภาพชุมชน
การจัดการสุขภาพที่เหมาะสมกับ ชุมชน แม้ว่า พื้นที่จะมีความห่างไกลและสื่อสารที่เป็นปัญหาด้านภาษาชาติพันธุ์และวัฒนธรรมประเพณีที่มีความหลากหลาย แต่สามารถจัดการได้ ส่งผลให้อบต.สะเนียน ได้รับรางวัล การบริหารจัดการระดับดีเด่นของสปสช.เขต 1 เชียงใหม่ ในปี 2567
ด้านนพ.วีระพันธ์ ลีธนะกุล รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า ขอชื่นชมการบริหารจัดการและใช้งบประมาณอย่างโปร่งใสและทันเวลา ที่ได้รับการบริการจัดการกองทุนตำบลดีเด่นของสปสช.เขต 1 เชียงใหม่ แม้ว่าจะมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ ถึง 8 กลุ่ม ที่ให้บริการส่งเสริมสุขภาพป้องกันในกลุ่มชาติพันธุ์ เน้นการดูแลคัดกรองโรคเบาหวาน ความดัน และจัดทำ โครงการคัดกรองความผิดปกติสายและแก้ไขปัญหาการมองเห็นไม่ชัดในกลุ่มผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่อบต.สะเนียนจัดสรรงบประมาณแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุที่มีความผิดปกติทางสายตาให้ได้รับแว่นสายตาและเข้าถึงบริการสาธารณสุขในระดับชุมชนได้อย่างทั่วถึง และได้พิธีมอบแว่นตาผู้สูงอายุที่มีปัญหาทางสายตาให้กับกลุ่มผู้สูงอายุได้รับความสดใส สำหรับโครงการผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย ให้เป็นสิทธิประโยชน์การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ครอบคลุมประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพ โดยใช้งบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น
ผู้ที่ได้รับประโยชน์ (1)บุคคลที่มีภาวะติดบ้านติดเตียง (2)บุคคลที่มีภาวะปัญหากั้นปัสสาวะอุจจาระ ไม่ได้ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และการประเมินของหน่วยจัดบริการ โดยให้รับ ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย ฟรีไม่เกิน 3 ชิ้นต่อวัน ผ่านกองทุนสุขภาพตำบล หรือ กองทุน กปท. ตามการประเมินตามแผนการดูแลรายบุคคล (Care Plan) โครงการนี้ทำให้บุคคลที่มีภาวะปัญหากลั้นปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาก ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565 มีมติเห็นชอบบรรจุ ที่ผ่านมา
ด้านนางนิภาพร พอใจ ผอ.รพ.บ้านน้ำโค้ง ต.สะเนียน อ.เมือง จ.น่าน กล่าวว่า อบต.และรพ.สต. มีการออกตรวจคัดกรองโรค NCD (เช่น เจาะเลือดตรวจเบาหวาน วัดความดัน ) ทุกปี ในกลุ่มชาติพันธุ์มลาบริ ซึ่งมีประมาณ 90 คน ในปีที่ผ่านมาพบว่า มีการคัดกรองพบกลุ่มเสี่ยง 3 ราย และนำเข้ากลุ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งในปีนี้เมื่อตรวจคัดกรองไม่พบกลุ่มเสี่ยง
ด้านนายบุญทิพย์ ดอยศักดิ์ หน.กลุ่มชาติมลาบริ ห้วยลู่ บอกว่า ดีใจที่รพ.สต.บ้านน้ำโค้งมาดูแล คัดกรองตรวจสุขภาพ โรคในชุมชน ในชุมชนมี อสม.2คน ช่วยดูแลและประสานกับรพ.สต.ในพื้นที่
“ในชุมชน ไม่มึปัญหาทางด้านสุขภาพนัก เพราะหาของในชุมชนมากิน และแบ่งปันกัน เข่นเมื่อก่อนกินกาแฟ บุหรี่ เหล้า เป็นโรค แต่เมื่อรพ.สต.และอบต.มาให้ความรู้ ลด หวาน มัน เค็ม สุขภาพคนในชุมชนก็ดีขึ้น“ หน.กลุ่มชาติพันธุ์มลาบริ ห้วยลู่ กล่าว
ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลสะเนียน ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 205 หมู่ที่ 1 ถนนน่าน – พะเยา ตำบลสะเนียน อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองน่าน ห่างจากที่ว่าการอำเภอเมืองน่านประมาณ 3.6 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดน่าน 3.7 กิโลเมตร ตำบลสะเนียนมีพื้นที่ ทั้งหมด ประมาณ 410 ตารางกิโลเมตร หรือ 256,250 ไร่ มีหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบ จำนวน 16 หมู่บ้าน และ 2 ชุมชน ประชากรทั้งหมดจำนวน 13,505 (ตามทะเบียนราษฎร) ประชากรแฝง จำนวน 528 ราย
ประชากรประกอบด้วย กลุ่มชาติพันธุ์ คิดเป็นร้อยละ 77.58 กลุ่มคนพื้นเมือง คิดเป็นร้อยละ 22.42 โดยจำแยกเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ดังต่อไปนี้
1.ชาติพันธุ์ม้ง คิดเป็นร้อยละ 41.60 2.ชาติพันธุ์เมี่ยน คิดเป็นร้อยละ 27.98 3.คนพื้นเมือง คิดเป็นร้อยละ 22.42
4.ชาติพันธุ์ขมุ คิดเป็นร้อยละ 3.40 5.ชาติพันธุ์ลั๊วะ คิดเป็นร้อยละ 3.18 6.ชาติพันธุ์มลาบริ คิดเป็นร้อยละ 0.70
7.ชาติพันธุ์ถิ่น คิดเป็นร้อยละ 0.50 8.ชาติพันธุ์มูเซอ คิดเป็นร้อยละ 0.22 โดยมี โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 6 แห่ง /ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 12 แห่ง /ศาสนสถาน จำนวน 7 แห่ง /โบสถ์ จำนวน 3 แห่ง และ สถานบริการสาธารณสุข จำนวน 3 แห่ง