“เซ็นทรัลแล็บไทย”เตือนภัย สารเร่งเนื้อแดง อันตรายเสี่ยงโรคร้าย แนะผู้ค้าตรวจแล็บก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภค
ด้วยข้อกำหนดของกระทรวงสาธารณสุข และ กรมปศุสัตว์ กำหนดให้อาหารทุกชนิดในประเทศไทย ต้องปลอดจากการใช้สารเร่งเนื้อแดง หรือ สารเคมีกลุ่มเบตาอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) แต่ด้วยปัจจุบันราคาเนื้อแดง โดยเฉพาะเนื้อหมู มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดการลักลอบนำเข้าเนื้อจำนวนมาก และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดงที่ต้องการเพิ่มมูลค่าในตลาด
นางชม้อย ทองลือ ผู้อำนวยการสำนักงานสาขากรุงเทพ บริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เซ็นทรัลแล็บไทย ในฐานะหน่วยงานที่รองรับการถ่ายโอนงานจากภาครัฐ และให้บริการตรวจวิเคราะห์สินค้าเกษตรและอาหาร ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการนำเข้าและส่งออก ที่สำคัญคือการเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจวิเคราะห์ในการสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าและสร้างความเชื่อมั่นในกับผู้บริโภค ระบุว่า สารเร่งเนื้อแดง เป็นสารสังเคราะห์ในกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ (Beta-Agonist) มีด้วยกันหลายชนิด ประกอบด้วย ซัลบูทามอล (Salbutamol) เคลนบูเทอรอล (Clenbuterol) แรคโตพามีน (Ractopamine) บรอมบูเทอรอล (Brombuterol) เทอบูทาลีน (Terbutaline) ฟีโนเทอรอล (Fenoterol) และซิลปาเทอรอล (Zilpaterol) เป็นต้น สารตัวนี้ถูกลักลอบนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต จากงานวิจัยพบว่าสารนี้ทำให้หมูกินอาหารน้อยลงแต่จะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเปลี่ยนไขมันเป็นกล้ามเนื้อ ให้มีเนื้อแดงมากขึ้น แต่ไขมันน้อยลง จึงถูกนำมาใช้ผสมในอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงวัว ไก่งวง และหมู เพื่อเพิ่มปริมาณเนื้อแดงและลดไขมันลง
เมื่อสารเหล่านี้ตกค้างในเนื้อสัตว์และมนุษย์บริโภคเข้าไปจะได้รับสารอันตรายไปด้วย สำหรับอันตรายจากการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีสารเร่งเนื้อแดงตกค้างอยู่ มีผลต่อการทำงานของระบบประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบของหลอดเลือด หลอดลม กระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น อาจมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย วิงเวียนศีรษะ บางรายมีอาการเป็นลม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการทางจิตประสาท และเป็นอันตรายมากสำหรับหญิงมีครรภ์และผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทรอยด์
ผอ.สำนักงานสาขากรุงเทพ เซ็นทรัลแล็บไทย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาให้การหน่วนยงานสนับสนุนงานตรวจวิเคราะห์ในกลุ่มปศุสัตว์หลายด้าน พร้อมสนับสนุนผู้ประกอบการในภาคการผลิต นำเข้า และ ส่งออก ในการตรวจหาสารเร่งเนื้อแดงที่อาจมีอยู่ใน อาหารสัตว์ ปัสสาวะสัตว์ และน้ำที่ให้สัตว์ดื่ม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในเนื้อสัตว์ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันตัวเองจากการบริโภคเนื้อสุกรที่เสี่ยงด้วยสารเร่งเนื้อแดง ให้สังเกตเบื้องต้นโดยดูจากสีของเนื้อหมูต้องไม่มีสีแดงผิดปกติ เมื่อกดดูเนื้อจะนุ่มไม่กระด้าง หรือสังเกตตรงส่วนที่เป็นหมูสามชั้น หากพบว่า มีส่วนเนื้อมากผิดปกติ ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจมีสารเร่งเนื้อแดงปนเปื้อน เพราะหมูที่เลี้ยงตามธรรมชาติ จะมีสัดส่วนของมันหมู 1 ส่วน ต่อเนื้อแดง 2 ส่วน