สปสช.ลงพื้นที่ เยี่ยมชมหน่วยนวัตกรรมคลินิกการแพทย์แผนไทยหมอเพชรชรัตน์ คลินิกทันตกรรมหมอสอง อำเภอบ้านไร่ จ.อุทัยธานี
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ และการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค พร้อมด้วย นพ.เอกรินทร์ อุ่นอบ ผอ.สปสช.เขต3 นครสวรรค์ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงาน“หน่วยนวัตกรรมบริการ 7 วิชาชีพ ” ตามนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” โดยมี นางเพชรชรัตน์ ก้อนเกษ ผู้บริหารคลินิกแพทย์แผนไทยฯ ทันตแพทย์ศานิต วงศ์เวช ผู้บริหารคลินิกทันตกรรม สรุปภาพรวมของการดำเนินการในคลินิก
ภก.คณิตศักดิ์ กล่าวว่า หน่วยนวัตกรรมบริการ 7 วิชาชีพ ตามนโยบาย “ยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ระยะที่ 3 ในจังหวัดอุทัยธานี จากที่ลงพื้นที่มีความประทับใจหน่วยบริการภาคเอกชนในพื้นที่เข้ามาเป็นหน่วยบริการเพื่อยกระดับ 30 บาทฯ หลายแห่ง แม้เป็นจังหวัดเล็กๆ มีประชากรทั้งหมดประมาณ 285,124 คน เป็นสิทธิ์บัตรทอง 236,702คน แต่ก็มีหน่วยบริการที่สนใจเข้าร่วมจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในพื้นที่ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีความสะดวกมากขึ้น ในส่วนของการจ่ายชดเชยค่าบริการ สปสช. ยืนยันแล้วว่าสามารถจ่ายได้ใน 3 วัน
“ในพื้นที่สปสช.เขต 3 มี 5 จังหวัด ดังนี้ จ.นครสวรรค์ จ.กำแพงเพชร จ.พิจิตร จ.ชัยนาทและจ.อุทัยธานี ซึ่งดำเนินโครงการบัตรประชาชนใบเดียวครบทั้ง 5 จังหวัดตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2567 เป็นต้นมา นั้นพบว่า ทุกที่มีหน่วยนวัตกรรมบริการมีความพร้อมแล้ว แต่สิ่งที่อยากเน้นย้ำ คือขอหน่วยนวัตกรรมบริการ ช่วยกันประชาสัมพันธ์โครงการฯ ให้กับประชาชนในพื้นที่ทราบมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด” เภสัชกรคณิตศักดิ์กล่าว
ผู้อำนวยการฝ่ายสนับสนุนการเข้าถึงบริการปฐมภูมิ ฯ กล่าวว่า สถานการณ์การขับเคลื่อนนโยบายยกระดับ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นจังหวัดนำร่องเฟส 2 แห่งแรก ของเขต 3 นครสวรรค์ มีข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 1 มีนาคม – 22 พฤษภาคม 2567 มีหน่วยบริการประกอบด้วย โรงพยาบาล รพ.สต. และหน่วยนวัตกรรม เข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทฯ จำนวน 361 แห่ง ประชาชนได้รับบริการทั้งสิ้น 102,966 คน/ 166,495 ครั้ง โดยสปสช.จ่ายชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 62,675,146 บาทแต่หากรวมผลงาน 5 จังหวัดของเขต 3 ที่มีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 2.9 ล้านคนเป็นสิทธิบัตรทอง 2.1 ล้านคน พบว่า ประชาชนได้รับบริการจำนวน 162,538 คน มีการเข้ารับบริการแล้ว จำนวน 243,938 ครั้ง โดยสปสช.จ่ายชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 75,840,568 บาท
นพ.เอกรินทร์ กล่าวว่า สำหรับ จ.อุทัยธานี เริ่มดำเนินการ 1 พฤษภาคม 2567 มีข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 1 –23 พฤษภาคม 2567 มีหน่วยบริการประกอบด้วย โรงพยาบาล รพ.สต. และหน่วยนวัตกรรม เข้าร่วมโครงการยกระดับ 30 บาทฯ จำนวน 42 แห่ง มีผู้รับบริการทั้งสิ้น 12,637 คน/ 16,315 ครั้ง โดยสปสช.จ่ายชดเชยเป็นเงินทั้งสิ้น 5,108,132.00 บาท
นอกจากนี้ หน่วยนวัตกรรม 7 วิชาชีพ ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในพื้นที่ เขต 3 นครสวรรค์ ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2567 จำนวน 266 แห่ง (19.19%) จากสถานพยาบาลเอกชนขึ้นทะเบียน สพ.7 จำนวน 1,386 แห่ง ส่งข้อมูลการเบิกจ่ายกับสปสช. แล้ว 109 แห่ง (40.98%) คิดเป็นการให้บริการแก่ประชาชน 15,551 คน มีจำนวน24,481 ครั้ง จ่ายชดเชยวงเงินทั้งสิ้น 6,655,674 บาท หน่วยนวัตกรรมที่มีเบิกจ่ายสูงสุด ได้แก่ คลินิกทันตกรรม ร้านยาเภสัชกรรม และคลินิกพยาบาลฯ
อย่างไรก็ตาม คลินิกนวัตกรรมในจังหวัดอุทัยธานี ผลการดำเนินงานในระยะที่ 3 เริ่ม 1 พฤษภาคม 2567 พบว่า คลินิกพยาบาลฯ ให้บริการ 56 คน มีประชาชนเข้ารับบริการ จำนวน 61 ครั้ง เบิกจ่ายทั้งสิ้น 10,635 บาท ส่วนคลินิกแพทย์แผนไทยและคลินิก ทันตกรรม อยู่ในช่วงเริ่มให้บริการ และเตรียมส่งข้อมูลสำหรับการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ
ด้านนางเพชรชรัตน์ ก้อนเกษ ผู้บริหารคลินิกแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า คลินิกฯเริ่มเปิดให้บริการประชาชนในชุมชนเมื่อปี2563 การที่คลินิกฯได้เข้าร่วมกับสปสช.หรือสิทธิ์บัตรทอง 30 บ.เมื่อวันที่23พ.ค. 67 โดยตนจะเปิดให้บริการทุกวัน จ.-ศ. เปิดเวลา 17.00 น.- 22.00 น. ส่วน ส.-อ. เปิด7โมง-2ทุ่ม ตั้งแต่เริ่มเข้าร่วม มีผู้ป่วยมาใช้บริการสิทธิ์บัตรทองแล้ว 4 คนโดยจะวินิจฉัยคนไข้ที่มีอาการปวดแบบทนไม่ไหว เช่น หัว, คอ, บ่า, ไหล่ ,นิ้วล็อค ,คุณแม่หลังคลอด เป็นต้น ซึ่งรักษาตามคัมภีร์โบราณ ที่ตนเข้าร่วมสปสช.ต้องการให้ประชาชนในชุมชนเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้น
ด้านนางสนิม เอี่ยมฉิม อายุ 53 ปี ทำไร่ ป่วยเป็นนิ้วล็อค ซึ่งไปรักษาที่รพ.หมอจะให้ผ่าตัด ตนคิดว่าถ้าผ่าตัดคงต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเลยมาพบหมอเพชรชรัตน์หรือหมอดา ดูให้และนวดไปสัปดาห์แรกอาการนิ้วล็อคดีขึ้น จากเดิมงอนิ้วไม่ได้หยิบจับอะไรไม่ได้ หมอบอกว่าเป็นเพราะกำมือใช้จอมเสียมนาน โดยบอกว่าต้องมานวดสัปดาห์ละครั้ง รวมกัน 7 ครั้ง ตนรูเสึกดีใจมากเพราะมารักษาไม่ต้องเสียเงิน เสียค่ารถ เดินลัดป่ากล้วยมาก็ถึงแล้ว สะดวก สบายมาก ขอบคุณสปสช.ที่มีโครงการดีๆแบบนี้ให้กับชาวบ้านที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง
ด้านทันตแพทย์ศานิต วงศ์เวช ผู้บริหารคลินิกทันตกรรม สรุปภาพรวมของการดำเนินการในคลินิกว่า คลินิกตนเพิ่งเข้าร่วมสปสช.ไม่นาน และเป็นคลินิกทำฟันให้กับประชาชนใข้สิทธิ์บัตรทองเป็นหลัก ปรากฎว่ามีประชาชนต้องการมาใช้สิทธิ์บัตรทองจำนวนมากทั้งที่อยู่พื้นราบและบนดอย รวมทั้งเด็กๆผู้ปกครองจะพามากันมาก ติดต่อขอนัดมาทำฟันทุกวัน อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงบริการทำฟันสะดวกและง่ายขึ้น ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองรักษาวันละ 8 คน ซึ่งตนเปิดได้ไม่กี่วัน บริการที่ให้ ขูดหินปูน ถอนฟัน อุดฟัน เคลือบฟลูออไรด์