เลขาธิการ สปสช. ร่วมเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี
เลขาธิการ สปสช. ร่วมพิธีเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ศูนย์ดูแลผู้ป่วยไตวายเรื้อรังด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องที่ใหญ่ที่สุดในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำ สปสช. ให้ความสำคัญกับการล้างไตทางช่องท้องและมีแนวโน้มผู้ใช้เครื่องล้างไตอัตโนมัติเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมพิธีเปิดศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ณ ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ถ.มไหสวรรย์ แขวงบางคอแหลม เขตบางคอแหลม กทม. เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567
ทั้งนี้ ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องเคดีเคซี ให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่รับการบำบัดทดแทนไตด้วยการล้างไตทางช่องท้องมาเป็นเวลานานถึง 17 ปี โดยเป็นส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) และได้เปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็นบริษัท คิดดีคิดนี่แคร์ จำกัด ซึ่งเป็นสถานพยาบาลเอกชนแห่งแรกในกรุงเทพมหานคร ด้วยบุคคลากรทีมงานเดิมเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี เป็นศูนย์เอกชนที่ให้บริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
พญ.ปิยะธิดา จึงสมาน หัวหน้าศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี กล่าวว่า พันธกิจของศูนย์ฯ มุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม นำไปสู่การจัดบริการที่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพใจ ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว ให้บริการรทางการแพทย์ครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาเรื่องการบำบัดทดแทนไต/การรักษาแบบประคับประคอง การวางสายล้างไตทางช่องท้อง การสอนขั้นตอนการล้างไตทางช่องท้องทั้งแบบเปลี่ยนน้ำยาด้วยมือ และเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) การให้คำแนะนำทางโภชนบำบัด การให้บริการโทรศัพท์สายด่วน 24 ชม. รวมถึงการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย
“ด้วยทีมงานอายุรแพทย์โรคไต 9 ท่าน ศัลยแพทย์ 1 ท่าน พยาบาลเฉพาะทาง 4 ท่าน นักกำหนดอาหาร 1 ท่าน และนักวิชาการสาธารณสุข 5 เราได้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตมาจนปัจจุบันเกือบ 5,000 ราย ถือเป็นศูนย์ล้างไตทางช่องท้องที่มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”พญ.ปิยะธิดา กล่าว
ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง เคดีเคซี ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการล้างไตผ่านทางช่องท้องตั้งแต่เดือน ส.ค.2567 แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ศูนย์ล้างไตแห่งนี้ได้ทำงานร่วมกับ สปสช. ภายใต้ร่มของโรงพยาบาลบ้านแพ้วมาตั้งแต่ปี 2551 และเป็นศูนย์ล้างไตทางช่องท้อง 1 ใน 3 แห่งแรกในโครงการนำร่องของ สปสช. ในการโปรโมทการล้างไตทางช่องท้องในช่วงแรกของการดำเนินงาน และในวันนี้ก็ยังเป็นหน่วยบริการรับการส่งต่อเฉพาะด้านบริการล้างไตผ่านทางช่องท้องเอกชนแห่งแรกของประเทศไทย
“ในอดีตการบำบัดทดแทนไตส่วนมากนิยมใช้การฟอกเลือด ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงและผู้ป่วยต้องจ่ายเงินเอง ทำให้หลายครอบครัวต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากการจ่ายค่ารักษา ในช่วงแรกที่ สปสช. พิจารณาสิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไต เราเลือกวิธีการล้างไตทางช่องท้องให้เป็นสิทธิประโยชน์อันดับแรกเพราะมีความยืดหยุ่นและมีต้นทุนการบริการที่ต่ำกว่า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงบริการมากที่สุด และศูนย์ล้างไตแห่งนี้ก็เป็นกำลังสำคัญในการผลักดันการล้างไตทางหน้าท้องมาอย่างต่อเนื่อง วันนี้แม้จะเปลี่ยนผู้ดำเนินการมาเป็นบริษัทเอกชน แต่พันธกิจและความมุ่งมั่นในการดูแลผู้ป่วยยังคงอยู่เหมือนเดิม บุคลากรและความเชี่ยวชาญยังมีเหมือนเดิม และเชื่อว่าด้วยโครงสร้างที่เป็นบริษัท จะทำให้การบริหารจัดการของศูนย์ฯมีความคล่องตัวและประสบความสำเร็จในการดำเนินงานมากขึ้นในอนาคต”นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า สปสช. ให้ควาะมสำคัญกับการล้างไตทางช่องท้องเป็นอย่างมาก เพราะมีความสะดวกในแง่ที่ผู้ป่วยสามารถล้างไตได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ทำให้มีความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพได้มากขึ้น ปัจจุบัน สปสช. มีผู้ป่วยล้างไตผ่านหน้าท้องกว่า 16,000 ราย และเพื่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกในการใช้ชีวิตมากที่สุด ในช่วงที่ผ่านมา สปสช. ยังได้เพิ่มสิทธิประโยชน์บริการล้างไตผ่านช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ หรือ APD ซึ่งมีข้อดีคือจะล้างเพียง 1 ครั้งต่อวันโดยใช้เวลา 8-12 ชั่วโมง โดยสามารถเปิดให้เครื่องทำงานขณะนอนหลับพักผ่อนในตอนกลางคืนได้เลย ต่างจากการล้างไตทางช่องท้องด้วยตนเองแบบเดิมซึ่งจะมีรอบการล้างเฉลี่ยอยู่ที่ 3-4 รอบต่อวัน และต้องเปลี่ยนน้ำยาล้างไตทุก 4-6 ชั่วโมง ทำให้ผู้ใช้เครื่อง APD ออกไปใช้ชีวิตประจำวันหรือออกไปทำงานในตอนกลางวันถึงช่วงเย็นได้สะดวกยิ่งขึ้น โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ใช้เครื่อง APD เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 380 ราย ในปี 2564 เป็น 4,649 ราย ในปี 2567 และแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกในอนาค