หลังโควิด คนรุ่นใหม่ใส่ใจสุขภาพ ลูกค้าหลัก ดัน ‘ตลาดเขียว’ บูม
คนรุ่นใหม่ตื่นตัว ชิม ช้อปสินค้าอาหารปลอดภัย ส่งตรงจากสวนเกษตรกร ถึงมือผู้บริโภค ปี 2566 สสส.เล็งทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพิ่มพื้นที่ตลาดเขียว – พัฒนาให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ พร้อมปลูกฝังแนวคิดร่วมสมัยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ หวังให้ตลาดเขียวเข้าไปอยู่ในใจคนรุ่นใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ สวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จัดเสวนา “พลังตลาดเขียว ระบบนิเวศอาหารปลอดภัย” ณ City Farm Market มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ไทรม้า จ.นนทบุรี โดยทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เปิดการเสวนาตอนหนึ่งถึงพลังตลาดเขียว เปรียบเหมือนโซ่ข้อกลางที่ทำหน้าที่ช่วยกระจายอาหารปลอดภัย จากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค
ทพญ.จันทนา กล่าวถึงสิ่งที่เหมือนๆกันของตลาดเขียวในเมือง ตลาดเขียวในชนบท และตลาดเขียวในห้างสรรพสินค้า ก็คือเป็นพื้นที่จำหน่ายสินค้าเกษตรปลอดสารพิษ เกษตรกรตัวจริงมาจำหน่ายสินค้าเอง ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่า ได้อาหารที่ปลอดภัยแน่นอน และสร้างพื้นที่ทางสังคม เป็นแหล่งบริการความรู้ ดังนั้น ตลาดเขียว จึงเป็นมากกว่าพื้นที่จำหน่ายสินค้า
“ปี 2566 สสส.จะรณรงค์ทำให้เรื่องตลาดเขียวเป็นรูปธรรมมากขึ้น จากข้อมูลปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ตลาดเขียวต้นแบบเกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 88 แห่ง ใน 19 จังหวัด และยังมีตลาดเขียวในโรงพยาบาลอีกว่า 300 แห่ง ซึ่งความท้าทายอนาคตทำอย่างไรให้ตลาดเขียวเติบโต กระจายให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เช่น อาจทำงานร่วมกับท้องถิ่นเพื่อเพิ่มพื้นที่ตลาดเขียว การพัฒนาตลาดเขียวให้อยู่ในแพลตฟอร์มออนไลน์และการสร้างมุมตลาดเขียวร่วมไปกับตลาดปกติ เป็นต้น”
ขณะที่ นางทัศนีย์ วีระกันต์ จากมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวถึงพัฒนาการตลาดเขียวจากอดีตถึงปัจจุบัน มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2528 เป็นกระบวนการทำงานผลักดันให้เกิดความยั่งยืนและระบบอาหารของประเทศ เป็นส่วนสำคัญของความมั่นคงทางอาหารจะใช้คำว่า ตลาดทางเลือก เกษตรกรรมทางเลือก เกษตรกรรมยั่งยืน กสิกรรมไร้สารพิษ กสิกรรมธรรมชาติ ซึ่งในปัจจุบันกำลังพัฒนาให้เกิด พรบ.เกษตรกรรมยั่งยืน เป็นวิถีที่เกษตรกรรมที่คงไว้ซึ่งธรรมชาติและดำรงไว้ซึ่งความสุขของระบบนิเวศน์
“ในอดีตองค์กรพัฒนาเอกชนหลายองค์กร เคยเปิดเป็นร้านค้า เจ๊งกันเป็นแถว ปัจจุบันรูปแบบตลาดนัดสีเขียว ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีผลผลิตจำนวนมาก ในมุมมองคิดว่า เป็นรูปแบบที่เหมาะสมที่สุดแล้ว”
ส่วน นางวัลลภา แวน วิลเลียนส์วาร์ดโครงการบูรณาการเพื่อหนุนเสริมยุทศาสตร์แผนอาหาร กล่าวถึงตลาดเขียวว่า เป็นมากกว่าตลาดทั่วๆ ไป เพราะมีพลัง 1.พลังอาหารที่ดี อาหารมีพลังชีวิตเวลาที่เราปลูกอย่างใส่ใจ และขายอย่างมีห่วงโซ่คุณค่า มีผู้บริโภคที่พร้อมเข้าถึงอาหารที่ดี 2.พลังผู้คน พลังความร่วมมือ ซึ่งเป็นพลเมืองอาหาร เป็นพลังของระบบอาหารที่ดี ที่ไม่ได้ทำได้ในคนๆ เดียว และ3.พลังความรู้ ที่เกษตรกร คนปรุงอาหาร พร้อมที่จะบอกเรื่องราว เล่าเรื่อง การใส่ใจ การเลือกวัตถุดิบ การสาธิตการทำอาหาร นี่คือความแตกต่างของตลาดเขียวกับตลาดทั่วๆไป
นางสาววิชญาพัส รุจิระ นักวิจัย โครงการแนวทางการบริหารจัดการตลาดเขียว กล่าวงานวิจัยตลาดเขียว ในเบื้องต้น พบว่า ตลาดเขียวมีความเป็นพลวัตร ปรับเปลี่ยน แตกต่างไปตามยุคสมัย และบริบทของพื้นที่ โดยโครงสร้างตลาดเขียว ส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับฐานอาหารของชุมชน พลเมืองอาหาร ทั้งเกษตรกร ผู้บริโภค
ด้าน นายธนบูรณ์ สมบูรณ์ จาก Greenery Market กล่าวถึงการจัดตลาดเกษตรอินทรีย์ ในเมือง พบว่า ผู้คนให้ความสนใจมากขึ้น ก่อนโควิดในกรุงเทพฯ ช่วงระยะเวลา 1 เดือน มีการจัดตลาดเขียวเพิ่มขึ้นกว่า 10 แห่ง นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า มีคนอยากซื้อ สินค้าเกษตรอินทรีย์ แต่ที่ผ่านมาไม่มีตลาด
“ช่วงสถานการณ์โควิด ผู้คนรับรู้การกินอาหารที่ดีสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเขาได้ ผู้คนจึงหันมาใส่ใจการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่มีสารเคมี ฉะนั้น การผลักดันให้เกิดตลาดเขียวเป็นการผลักดันให้เกษตรกรมีพื้นที่ขาย และผู้บริโภคก็ได้เข้าถึงอาหารปลอดภัย ได้กินอาหารดีๆ ในราคาที่เป็นธรรม”
สุดท้าย นางมัทนา ถนอมพันธุ์ หอมลออกรรมการกำกับทิศแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส.ให้มุมมองทิ้งท้ายถึงตลาดเขียวกับการทำงานกับคนรุ่นใหม่ว่า ทำอย่างไรให้ตลาดเขียวเข้าไปอยู่ในใจของคนรุ่นใหม่ โดยการปลูกฝังรสนิยมรักระบบอาหารยั่งยืน
“เด็กรุ่นใหม่ ที่เกิดมากับตลาดเขียว เขาจะมีลิ้น หรือรสนิยม สามารถแยกแยะสินค้าที่วางจำหน่ายที่ตลาดเขียว และห้างค้าปลีกได้ เรื่องนี้ต้องคิดว่า ทำอย่างไรให้ตลาดเขียว ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของคนปัจจุบัน ขยับไปถึงเด็กเล็ก เด็กอ่อน เพื่อให้เขาเติบโตมีลิ้นตลาดเขียว ถือว่า เป็นการลงทุนที่คุ้มมาก ส่วนการทำงานกับคนรุ่นใหม่ที่มองเรื่องความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ การสื่อสารตลาดเขียวกับคนรุ่นใหม่ จึงจำเป็นต้องกระจายวิธีคิดให้ร่วมสมัย ตลาดเขียวลดความเหลื่อมล้ำอย่างไร เช่น ทำให้คนเข้าถึงอาหารที่ดูแลสิ่งแวดล้อม ในราคาที่เป็นธรรม”