การรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศภายนอกผ่านมุมมองเส้นทางชีวิต
มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบทางลบต่อสุขภาพทั้งในด้านอัตราการตาย การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากรทั่วโลก ในการนี้ การรับรู้ความเสี่ยง (risk perception) จึงเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากทำให้เกิดพฤติกรรมการป้องกันตนเอง (self-protective behavior) ของประชากรเพื่อตอบรับกับสภาพปัญหาดังกล่าว
อาจารย์ ดร. สัตวแพทย์หญิงสรัญญา สุจริตพงศ์
และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. มาร์ค เฟิลแคร์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาวิจัย เรื่อง “การรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศภายนอกผ่านมุมมองเส้นทางชีวิต” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ระบุกลไกเชิงสาเหตุที่อธิบายผลกระทบของเส้นทางชีวิตของผู้คนที่มีต่อการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ และ (2) ทบทวนวรรณกรรมผลการศึกษาที่ผ่านมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอายุและการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการทบทวนเอกสารเชิงสำรวจ (exploratory review) ตามแนวทางของ Preferred Reporting Items for Systematic Reviews and Meta-Analyses (PRISMA) พบบทความที่เกี่ยวข้องจากการสืบค้นอย่างเป็นระบบ 3,515 บทความ จากนั้นจึงวิเคราะห์เอกสารฉบับสมบูรณ์ 123 บทความ โดยใช้กรอบเส้นทางชีวิต (life course approach) ในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในการจำแนกช่วงอายุของประชากรออกเป็น 5 กลุ่มวัย (วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่และวัยสูงอายุ) ครอบคลุมมิติต่างๆ ของการรับรู้ ได้แก่ โอกาสในรับสัมผัสมลพิษ (the probability of exposure) ความรุนแรงของผลกระทบ (severity of the effect) สาเหตุของมลพิษ (causes of the pollutant) และความไวต่อมลพิษ (sensitivity toward the pollutant)
ผลการระบุกลไกเชิงสาเหตุที่อธิบายผลกระทบของเส้นทางชีวิตของผู้คนที่มีต่อการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในทางทฤษฎี พบว่า ความสัมพันธ์ของอายุหรือเส้นทางชีวิตที่มีต่อการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ เป็นผลมาจาก (1) ทัศนคติเกี่ยวกับความเปราะบางของตนเองและผลกระทบจากการรับสัมผัสมลพิษที่มีต่อสุขภาพรายอายุ และ (2) แหล่งข้อมูลทางสุขภาพที่ปรากฎในสื่อหรือสภาพแวดล้อมทางสังคมหนึ่งๆ โดยมีลักษณะดังภาพ
รูปที่ 1: ความสัมพันธ์ระหว่างเส้นทางชีวิต/อายุที่มีต่อการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศ
ผลการทบทวนวรรณกรรมผลการศึกษาที่ผ่านมาถึงความสัมพันธ์ระหว่างอายุและการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศโดยวิธีการทบทวนเอกสารเชิงสำรวจ พบบทความที่เกี่ยวข้อง 123 บทความ โดยส่วนใหญ่เป็นการศึกษาในวัยผู้ใหญ่ อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการศึกษาการรับรู้ความเสี่ยงมลพิษทางอากาศในประชากรเปราะบางหลายช่วงอายุ แต่การศึกษาในประเด็นดังกล่าวยังคงมีจำกัดในกลุ่มผู้สูงอายุ โดยมีลักษณะดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1: จำนวนบทความที่ใช้ในการศึกษา จำแนกตามกลุ่มอายุ
วัยทารก | วัยเด็ก | วัยรุ่น | วัยผู้ใหญ่ | วัยผู้ใหญ่และวัยรุ่น | รวม | |
จำนวนบทความ | 2 | 6 | 5 | 109 | 1 | 123 |
เมื่อจำแนกบทความที่เกี่ยวข้องตามการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในแต่ละกลุ่มอายุ พบว่า แม้ว่าจะมีการศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในแต่ละกลุ่มอายุ ครอบคลุมมิติต่างๆ ได้แก่ โอกาสการเปิดรับ ความรุนแรงของผลกระทบ สาเหตุของมลพิษ แต่การศึกษาเกี่ยวกับความไวต่อสารก่อมลพิษยังคงเป็นประเด็นที่มีการศึกษาน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับการรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงในมิติอื่นๆ ลักษณะดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2: จำนวนบทความที่ใช้ในการศึกษา จำแนกตามการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศในแต่ละกลุ่มอายุ
วัยทารก | วัยเด็ก | วัยรุ่น | วัยผู้ใหญ่ | วัยผู้ใหญ่และวัยรุ่น | รวม* | |
โอกาสการเปิดรับ | 1 | 4 | 2 | 64 | 1 | 72 |
ความรุนแรงของผลกระทบ | 0 | 3 | 1 | 18 | 0 | 22 |
สาเหตุของมลพิษ | 1 | 3 | 3 | 39 | 0 | 46 |
ความไวต่อสารก่อมลพิษ | 1 | 0 | 0 | 3 | 0 | 4 |
ดัชนีรวมหลายมิติ | 0 | 1 | 0 | 37 | 0 | 38 |
ไม่เฉพาะเจาะจง | 0 | 0 | 2 | 5 | 0 | 7 |
หมายเหตุ: จำนวนบทความทั้งหมดไม่เท่ากับ 123 เนื่องจากการศึกษาบางบทความครอบคลุมการรับรู้ความเสี่ยงมากกว่า 1 มิติ
จากมุมมองเส้นทางชีวิต การสื่อสารความเสี่ยง (risk communication) เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศสู่สาธารณะมีความสำคัญต่อการรับรู้เกี่ยวกับมลพิษทางอากาศของแต่ละคน การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะให้พัฒนาระบบการสื่อสารความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ โดยเลือกใช้ข้อความสื่อสารที่เหมาะสมกับประชากรที่มีความไวต่อมลพิษทางอากาศ (sensitive population) ในแต่ละช่วงอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูล ซึ่งเป็นสาเหตุให้ไม่สามารถตระหนักถึงผลกระทบของมลพิษทางอากาศ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงให้เกิดประสิทธิผล โดยสื่อสารความเสี่ยงผ่านการช่องทางสาธารณะควบคู่กับการสื่อสารผ่านบุคลากรทางการแพทย์ บุคลากรทางการศึกษาและผู้ดูแล ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดและได้รับความเชื่อถือจากประชากรที่ไวต่อมลพิษทางอากาศ