
กองทุนภูมิอากาศสีเขียวสนับสนุนไทยกว่า 4 พันล้านบาทเดินหน้าปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวรับมือภาวะโลกร้อน
กรุงเทพฯ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 – ประเทศไทยเดินหน้าปฏิรูปภาคการปลูกข้าวด้วยเงินทุนสนับสนุนรวม 118 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยประมาณ 4.181 พันล้านบาท ภายใต้โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศ(Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice FarmingProject) มุ่งส่งเสริมศักยภาพเกษตรกรไทย 253,400 รายให้สามารถนำรูปแบบการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้ พร้อมตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก2.44 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปีพ.ศ. 2571
โครงการเพิ่มศักยภาพการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วน โดยได้รับทุนสนับสนุนจาก กองทุนภูมิ อากาศสีเขียว กระทรวงเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMZ) ผ่านโครงการdeveloPPP และทุนสมทบจากพันธมิตรจากภาคเอกชนในระดับนานาชาติ ได้แก่ เอโบรฟู้ดส์ (Ebro Foods) มาร์ส ฟู้ด (Mars Food) โอแลม อะกริ(Olam Agri) และเป๊ปซี่โค (PepsiCo)นอกจากนี้ยังผนึกความร่วมมือจากหลากหลายหน่วยงานเช่น กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)สถาบันวิจัยข้าวระหว่างประเทศ (IRRI) และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีการปลูกข้าวในประเทศไทยไปสู่การปลูกข้าววิถีใหม่ผ่านการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรที่ เท่าทันต่อภูมิอากาศ (Climate-Smart Agriculture) มาปรับใช้เพื่อยึดถือเป็นแนวทางในการปลูกข้าว โดยคาดการณ์ว่าแนวทางนี้จะช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และส่งเสริมความเข้มแข็ง ของระบบนิเวศการตลาดในภาคการปลูกข้าว ในระยะเวลาการดำเนินโครงการ 5 ปี คือตั้งแต่พ.ศ. 2567 – 2571
โครงการนี้ยังมุ่งหวังส่งเสริมให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถเข้าถึงและนำ 10 เทคโนโลยีีการเกษตรที่เท่าทันต่อภูมิอากาศมาปรับใช้กับการจัดการพื้นที่นาและพื้นที่เกษตรของตนได้แก่ การจัดการน้ำระดับแปลงนา การปรับระดับพื้นที่นาด้วยระบบเลเซอร์ การจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง การจัดการฟางและตอซัง การจัดการธาตุอาหารในนาข้าว การใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศการหว่านหรือหยอดข้าวแห้ง การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน ระบบการปลูกพืชที่มีข้าวเป็นพืชหลักและการใช้ข้อมูลพยากรณ์ อากาศสำหรับการเพาะปลูก เทคโนโลยีเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ยังเสริมศักยภาพ ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน ผ่านการส่งเสริมการเกษตร ตลอดจนการเข้าถึงช่องทางการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อประโยชน์ต่อทั้งเกษตรกรรายย่อย ครัวเรือน ชุมชนและภาคส่วนการปลูกข้าวไทยในระยะยาว
งานเปิดตัวโครงการในครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมอีสติน แกรนด์พญาไทภายใต้แนวคิด “Rice is More: More Vision, More Action, More People Benefitting” มุ่งเน้นการส่งเสริมความร่วมมือและสร้างพลังขับเคลื่อนร่วมกัน เพื่อขยายแนวทางการประยุกต์ใช้การเกษตรที่เท่าทัน ต่อภูมิอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่ปลูกข้าวหลักทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงาน จากภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิด ผ่านการเสวนาเชิงนโยบาย รวมถึงโอกาสการลงทุนในภาคการผลิตข้าวของไทย เพื่อให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคการปลูกข้าวไทย ได้มารวมตัวและเสริมสร้างความร่วมมืออันเป็นหนึ่งเดียวกัน กิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นเวทีกำหนดวิสัยทัศน์และเป้าหมายของทุกภาคส่วน เพื่อวางแผนการดำเนินงานเชิงลึกในพื้นที่21 จังหวัดของโครงการ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวหลักของประเทศไทย มีผู้เข้าร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกข้าว ประกอบไปด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ตัวแทนเกษตรกร และสถาบันวิจัยประมาณ 200 คน
ดร.แอ็นสท์ ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทยกล่าวเปิดงาน พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของ ความร่วมมือในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ “วันนี้ผมยินดีที่ได้เห็นรัฐบาลไทย องค์กรภาคีระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และตัวแทนเกษตรกรได้มารวมตัวกันภายใต้วิสัยทัศน์เดียวกันไม่มีหน่วยงานใด ที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงนี้ ได้เพียงลำพัง การจะบรรลุเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่และนำประโยชน์มาสู่ทั้งผู้คนและสิ่งแวดล้อมได้ จำเป็นต้องอาศัยแนวทางการแก้ปัญหาที่มาจากความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนความรู้และความมุ่งมั่นที่จะทำตามเป้าหมายในระยะยาวร่วมกัน”
นายอานนท์ นนทรีย์ รองอธิบดีกรมการข้าว กล่าวในช่วงปาฐกถาพิเศษถึงแนวคิด “Rice is More” ที่สะท้อนความมุ่งมั่นของโครงการในการยกระดับผลผลิตข้าวและคุณภาพชีวิตเกษตรกร สร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศทางการตลาดของข้าวไทยว่า “Rice is More คือวิสัยทัศน์ของการทำให้ข้าวไทยก้าวไปข้างหน้ามากกว่าเดิม ข้าวไม่ได้เป็นเพียงแค่พืชเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการ สร้างอนาคตที่ยั่งยืน เราต้องทำให้ข้าวไทยเป็นตัวแทนของคุณภาพมาตรฐาน และนวัตกรรม เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับเกษตรกรไทย ที่พร้อมแข่งขันในตลาดโลก”
ดร.ทีโม เมนนิเคน ผู้อำนวยการ GIZ ประจำประเทศไทยกล่าวว่า“ความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศจะทำให้วิถีการปลูกข้าวที่เท่าทันต่อภูมิอากาศได้รับการยอมรับ และนำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติหลักของภาคการปลูกข้าว เพื่อเพิ่มรายได้ให้ เกษตรกรควบคู่ไปกับการป้องกันภาวะโลกร้อนในอนาคตต่อไป”
##########
เกี่ยวกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันหรือ GIZ (จีไอแซด) เป็นองค์กรของรัฐบาลเยอรมนีที่ดำเนินงานด้านความร่วมมือระหว่าง ประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งมุ่งทำงานเพื่อออกแบบอนาคตที่น่าอยู่สำหรับผู้คนทั่วโลกด้วยประสบการณ์กว่า50 ปี ในการดำเนินงานใน หลากหลาย สาขา GIZ ทำงานร่วมกับภาคธุรกิจภาคประชาสังคม และสถาบันวิจัยมากมาย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านนโยบายการพัฒนาในสาขา ต่าง ๆ ตลอดจนสนับสนุนกิจกรรมในการดำเนินงานให้บรรลุผลสำเร็จ
GIZ ดำเนินโครงการในประเทศไทยไปแล้วกว่า 500 โครงการเพื่อส่งเสริมประเทศไทยในการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนตั้งแต่ พ.ศ. 2502 ซึ่งเป็นปีที่ความร่วมมือไทย-เยอรมันเริ่มต้นอย่างเป็นทางการจากการก่อตั้งโรงเรียนอาชีวศึกษาไทย-เยอรมัน โดยความร่วมมือไทย-เยอรมันดำเนินงาน ตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน(Agenda 2023) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) และสนธิสัญญาในระดับนานาชาติ
สำนักงานใหญ่ของ GIZ ตั้งอยู่ที่เมืองบอนน์และเมืองเอชบอร์นสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี โดยในปี พ.ศ. 2566 GIZ ได้รับเงินสนับสนุน การดำเนินงานกว่า 1.52 แสนล้านบาท (4 พันล้านยูโร) GIZ ดำเนินงานอยู่ในประเทศต่าง ๆ มากกว่า 120 ประเทศทั่วโลกและมีพนักงานประมาณ 25,634 คน ซึ่งร้อยละ 70 เป็นคนในประเทศ